มทร.ศรีวิชัย ร่วมกับ Chevron อบรม…ความตระหนัก ในระบบแมคคาทรอนิกส์

ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพศรีวิชัย (Tvet Hub Srivijaya) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับ Chevron และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดการอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “ความตระหนัก ในระบบแมคคาทรอนิกส์” ในโครงการ Chevron Enjoy Science ให้แก่ครูจากวิทยาลัยเทคนิคในเครือข่ายจังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมพัฒนาและยกระดับความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปถ่ายทอดเพิ่มทักษะฝีมือชั้นสูงให้แรงงาน รองรับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม โดยมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ Rollout of Mechatronic Awareness Traing workshop to OVEC teachers โดยได้รับเกียรติจาก ดร.บุษราคัม ทองเพชร รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง” ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการ Chevron Enjoy Science (TVET) เป็นประธานในพิธี
รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า การจัดการอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาศักยภาพแรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือและพื้นฐานด้าน STEM หรือ Science, Technology, Engineering, Math เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานด้านระบบแมคคาทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”
โดยจัดการอบรมครูด้านความตระหนัก ในระบบแมคคาทรอนิกส์ ในครั้งนี้ ต้องการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบออโตเมชัน, การควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่โดยใช้ Wireless และการเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานที่เข้าสู่อุตสาหกรรมให้มีทักษะความสามารถความต้องการของภาคเอกชน
ขณะที่อาจารย์อรุณ สุขแก้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยากร) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งระบบแมคคาทรอนิกส์เป็นส่วนสำคัญ เนื่องด้วยในชีวิตประจำวัน เราต้องพบเจอกับระบบแมคคาทรอนิกส์โดยที่เราอาจไม่ทราบ การจัดโครงการในครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มเติมความรู้ หลักการทางระบบแมคคาทรอนิกส์ แก่ครูเทคนิคเพื่อเป็นต้นแบบการถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อเจตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่ตลาดแรงงานต่อไป
ด้านนายทวี ศิลาพันธ์ ครูจากวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต กล่าวว่า การได้เข้าร่วมอบรมครูฝึกพัฒนาฝีมือด้านความตระหนัก ในระบบแมคคาทรอนิกส์ ในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการทำให้ครูฝึกจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาและยกระดับความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ยิ่งขึ้นสำหรับนำไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ