จุฬาฯ พบแมงมุมฝาปิดโบราณ เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิต

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดย นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้วิจัยหลักในทีมศึกษาและค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์(Liphostius maewongensis Sivayyapram) กล่าวว่า แมงมุมฝาปิดโบราณนั้นเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต ยังคงมีลักษณะหลายประการที่เหมือนกับบรรพบุรุษเมื่อหลายล้านปีก่อน จากหลักฐานด้านบรรพชีวินวิทยาแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของแมงมุมฝาปิดโบราณอาจมีการถือกำเนิดเมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อน

“แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์เป็นแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดที่ 97 ของโลก และเป็นชนิดที่ 33 ถูกค้นพบในประเทศไทย ค้นพบได้เฉพาะในพื้นที่ของอุทยานแม่วงก์ที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป พบไม่เกิน 200 ตัว จะทำรังอยู่หน้าผาดินที่มีความชันสูง ขุดดินลึกลงไป 10-20 เซนติเมตร จะชักใยบุผนังโพรงด้านในเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต” นายวรัตถ์ กล่าว และว่า แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์เหมือนแมงมุมส่วนใหญ่ที่มีการพัฒนาของต่อมสร้างพิษที่บริเวณเขี้ยว แต่อย่างไรก็ตามพิษของแมงมุมฝาปิดโบราณมีไว้เพื่อจัดการกับแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่เป็นเหยื่อของพวกมัน ไม่ได้เป็นอันตรายกับมนุษย์ สำหรับประโยชน์ที่ค้นพบแมงมุมในครั้งนี้ มีทั้งเชิงวิชาการ ที่นักวิจัยจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงการมีอยู่ เชิงอนุรักษ์เพราะแมงมุมเป็นสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่าแม่วงก์ และเชิงการท่องเที่ยว

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน