เผยแพร่ |
---|
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลกี่ยุคกี่สมัยมักจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดแบบระยะสั้น โดยไม่มีการวางยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการระยะยาว ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพร้อมกัน ราคาผลผลิตก็ตกต่ำ และต้องใช้งบประมาณออกมาอุ้มอย่างมหาศาล จนท้ายที่สุดกลายเป็นช่องทางให้เกิดวงจรทุจริต
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สนค.จัดทำโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด (demand driven) เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านตลาดสินค้าเกษตรสำคัญ 4 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เพื่อใช้จัดทำฐานข้อมูลสำหรับวางแผนการผลิต
โดยปีนี้เริ่มนำร่องจัดทำร่างยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและข้าวก่อน โดยให้คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันไปสู่การวางแผนเพาะปลูก ปริมาณผลผลิต และมาตรการส่งเสริมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
“ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก แม้ว่าจะได้ปริมาณสูง แต่มีการแข่งขันรุนแรงจึงได้ราคาต่ำ หากไทยปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าวต่อยอดไปเป็นแป้ง เครื่องสำอาง หรือยา หรือเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพ สร้างมาตรฐานให้สูงขึ้น อย่างน้อยปีละ 3 ล้านตัน จากยอดส่งออกข้าวปีละ 10 ล้านตัน จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”
ชูแป้งข้าวคุณภาพสูง
ผศ.ดร. เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ หัวหน้าโครงการ และ ดร. ธีรารัตน์ วรพิเชษฐ์ ได้สรุปผลการศึกษาร่างยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ข้าว และมันสำปะหลัง โดยวิเคราะห์ข้อมูลในห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากข้าว 3 ชนิด คือ ขนมขบเคี้ยว แป้งข้าว และน้ำมันรำข้าว และสินค้าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง 3 ชนิด คือ ขนมขบเคี้ยวจากมันสำปะหลัง เอทานอล และอาหารสัตว์จากมันสำปะหลัง (ตาราง) พบว่า จุดอ่อนหลักของไทย คือ ต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง แต่ยังมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “แป้งข้าว” มีตลาดใหญ่ที่สุด ดังนั้น ไทยควรทุ่มเทการพัฒนาแป้งข้าวคุณภาพสูงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากแป้งข้าวสาลีให้ได้
รองลงมาคือ น้ำมันรำข้าว แม้ว่าคู่แข่งอย่างจีนและอินเดียมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า แต่ยังมีโอกาสจะขยายตลาดได้อีก โดยการพัฒนาน้ำมันรำข้าวคุณภาพสูง ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยวจากข้าว ซึ่งมีสัดส่วน 10% จากมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวทั่วโลก 630 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีปัญหาการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่ผลิตจากพืชชนิดอื่น เช่น มันฝรั่ง และมี
คู่แข่งสำคัญคือ มาเลเซีย และเวียดนาม หากไทยต้องการสู้ในสนามนี้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้ากับวัฒนธรรมและความต้องการของผู้บริโภค เช่น กรานูล่าพร้อมรับประทาน มีคุณค่าทางอาหารสูง และควรพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารเสริม หรือยา เป็นต้น
เสริมเทคโนฯ ผลิตเอทานอล
ส่วนร่างยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พบว่า ตลาดเอทานอลจากมันสำปะหลังมีขนาดใหญ่ที่สุด สัดส่วน 1% จากมูลค่าตลาดโลกที่ 2,400 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากไทยจะเสริมแกร่งผลิตภัณฑ์นี้ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 10% เพื่อให้มีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้ในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม รัฐ “ควรระมัดระวัง” ในการใช้ทรัพยากรเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมขนมขบเคี้ยว เพราะแม้ว่าขนมจากมันสำปะหลังมีจุดเด่นที่ไม่มีสารอะคริลาไมด์เช่นเดียวกับในมันฝรั่งทอด แต่ตลาดขนมมันสำปะหลังยัง “จำกัด” มีความนิยมในบางประเทศ และไทยไม่มีประสบการณ์ในการผลิตมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งหลายราย
สุดท้าย “อาหารสัตว์จากใบมันสำปะหลัง” เพื่อเป็นสิ่งทดแทนโปรตีนและช่วยด้านสุขภาพสัตว์ แต่ยังไม่ค่อยนิยมแพร่หลาย ทำให้ขาดความสม่ำเสมอของวัตถุดิบใบ ส่งผลให้ราคามีความผันผวน และหากส่งเสริมต่อยอดอาหารสัตว์ออร์แกนิกจะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 6 เท่า จากราคาปกติ
อุปสรรคพัฒนานวัตกรรม
ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวถึงโอกาสในการพัฒนาไบโอพลาสติกว่า สถาบันอยู่ระหว่างทดลองผลิตถุงพลาสติกจากมันสำปะหลังย่อยสลายง่าย และเส้นใยสำหรับใช้ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติจากมันสำปะหลังใกล้สำเร็จแล้ว
“การส่งเสริมนวัตกรรมควรทำควบคู่กับการส่งเสริมด้านการตลาด เพราะจากการผลิตในห้องทดลองซึ่งมีปริมาณ (volume) ไม่มาก จะมีต้นทุนต่อหน่วยสูง แข่งขันไม่ได้ แต่หากส่งเสริมการตลาดควบคู่กันไปด้วยจะช่วยให้ผลิตได้มากขึ้น ลดต้นทุนให้ถูกลง แข่งขันได้”
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เน้นย้ำว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลใช้เม็ดเงินช่วยเหลือชาวนาไปกว่า 7.7 แสนล้านบาท แต่ชาวนามีรายได้เพียง 4,500 บาท ต่ำกว่าคนจนที่มาลงทะเบียนกับรัฐบาล ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยคนละ 8,333 บาท ต่อเดือน วันนี้จึงถึงเวลาต้องตรวจสอบสุขภาพประเทศว่าต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไร เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3.7 ล้านครอบครัว อยู่รอดได้
ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ