นักวิชาการร่วมค้านเลิก “พาราควอต”

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยเปิดผลการรับฟังความเห็นเกษตรกร-นักวิชาการ ค้านยกเลิกใช้พาราควอต-หวั่นผลผลิตพืชเศรษฐกิจสูญกว่าแสนล้านบาท/ปี

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต สมาพันธ์ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจทั่วประเทศจำนวน 7 ครั้ง
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปร่วมกันในสมาพันธ์ว่า ไม่สมควรยกเลิกการใช้สารพาราควอต เพราะมีความสำคัญกับเกษตรกรทั้งผู้เพาะปลูก พืชไร่ พืชสวน ที่ใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืชจำนวนมาก หากให้เลือกเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออก และสร้างรายได้หลักให้กับเศรษฐกิจไทย อาทิ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน มีมูลค่ารวมประมาณ 442,600 ล้านบาท ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้น 39,794 ล้านบาท/ปี หรือผลผลิตลดลงรวมมูลค่า 112,435 ล้านบาท/ปี
แบ่งเป็นอ้อย มูลค่าผลผลิตรวม 100,000 ล้านบาท/ปี หากมีการยกเลิกการใช้สารพาราควอต ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2,200% จาก 135 บาทเป็น 3,200 บาท/ไร่ และหากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตอ้อยจะลดลง 20% หรือ 22 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวมประมาณ 110 ล้านตัน/ปี หรือสูญเสียมูลค่าผลผลิตอ้อยประมาณ 22,000 ล้านบาท/ปี อันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท, ข้าวโพดหวาน มูลค่าผลผลิตรวม 3,600 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มทันที 1,500% จากต้นทุน 132 บาทเพิ่มเป็น 2,100 บาท/ไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท แต่หากไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตข้าวโพดหวานจะลดลง 100% หรือมูลค่าผลผลิตเหลือ 0 ล้านบาททันทีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มูลค่าผลผลิตรวม 28,000 ล้านบาท/ปี หากเลิกใช้สารพาราควอต ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 1,500% จาก 132 บาทเพิ่มเป็น 2,100 บาท/ไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นรวม 13,723 ล้านบาท/ปี ถ้าไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลง 40% หรือผลผลิตลดลง 1.9 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวม 4.1 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียไป 12,977 ล้านบาท/ปี และยังส่งผลต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกด้วย, มันสำปะหลัง มูลค่าผลผลิตรวม 57,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 802% จาก 166 บาทเพิ่มเป็น 1,500 บาท/ไร่ ต้นทุนเพิ่มรวม 11,519 ล้านบาท/ปี หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 40% หรือ 12.6 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตทั้งปีประมาณ 31.2 ล้านตัน/ปี หรือมูลค่าผลผลิตจะหายไปทันที 23,058 ล้านบาท/ปี ปาล์มน้ำมัน มูลค่าผลผลิตรวม 44,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 148% จากต้นทุน 290 บาท เพิ่มเป็น 430 บาท/ไร่ หรือมูลค่า 1,940 ล้านบาท หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 20% คิดเป็นผลผลิตที่หายไป 2.2 ล้านตัน หรือมูลค่าผลผลิตจะหายไปรวม 8,800 ล้านบาท/ปี และยางพารา มูลค่าผลผลิต 210,000 ล้านบาท หากเลิกใช้พาราควอตต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที 148% จาก 290 บาท เป็น 430 บาท/ไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 8,410 ล้านบาท/ปี และหากไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลงทันที 20% หรือผลผลิตหายไป 0.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไป 42,000 ล้านบาท/ปี
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า นอกจากสมาพันธ์จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญแล้ว นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้สรุปผลการตรวจสอบยืนยันว่า สารพาราควอตยังสามารถใช้ได้ไม่เป็นอันตราย หากใช้ภายใต้การควบคุม และกรมจะนำเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมให้เกิดความชัดเจนต่อไป ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า พาราควอตเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดียืนยันว่า สารพาราควอตไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสันและโรคหนังเน่าแต่อย่างใด และกรณีถูกผิวหนังหากปฏิบัติถูกต้องใช้ตามวิธีการใช้ตามที่ฉลากกำหนด จะไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ