มข.เจ๋งผลิตก๊าซไฮเทนจากนํ้าอ้อย ชี้พลังงานสูง-ลดคาร์บอน

ขอนแก่น – ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง อาจารย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยว่า ผลงานวิจัยเรื่องการผลิตก๊าซไฮเทน (hythane) พลังงานทดแทนใหม่ ต่อลมหายใจพลังงานโลก ที่ได้มาจากน้ำอ้อย เป็นความสำเร็จและเป็นผลงานชิ้นเอกของ มข. และเป็นมหาวิทยาลัยแรกของภูมิภาคเอเชีย โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และจาก สนง.พัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

สำหรับขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากการผลิตไฮโดรเจน ในถังหมักไฮโดรเจนที่ใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ ภายใต้กระบวนการหมักแบบไร้อากาศ น้ำหมักจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนถูกส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีเทนในถังหมักมีเทนต่อไป

ก๊าซไฮโดรเจนและมีเทนที่ผลิตได้ถูกนำมาผสมกัน ได้ก๊าซผสมระหว่างไฮโดรเจนและมีเทนที่เรียกว่า “ไฮเทน” โดยไฮเทนที่ผลิตได้ถูกนำไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก พบว่าใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เป็น อย่างดี มีประสิทธิภาพการทำงานที่ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และค่าการสึกหรอของเครื่องปั่นไฟที่ใช้ไฮเทนก็ไม่แตกต่างกับเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ

ไฮเทนมีค่าพลังงานสูงกว่าก๊าซธรรมชาติ หรือ CNG การใช้ไฮเทนในเครื่องยนต์สันดาปภายในจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัด เชื้อเพลิง

นอกจากนี้ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนลงได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ นอกจากน้ำอ้อยแล้วยังคงมีวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ผลิตไฮเทนได้ อาทิ น้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำตาล และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ชานอ้อย ลำต้นปาล์มน้ำมัน งานวิจัยนี้จึงนำไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตไฮเทนจากชีวมวลชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด