“ฟาร์มดอนรัก” โมเดล ๙๑๐๑ ปัตตานี ดอกผลงอกเงย…เดินตามรอยพ่อ

แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลจากการทำ “ฟาร์มชุมชน ตำบลดอนรัก” ภายใต้โครงการ ๙๑๐๑ ตามรอยเท้าพ่อ กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกผืนแผ่นดินเปล่า แปลงเป็นทุนตั้งต้นในการทำอาชีพของผู้คนในตำบลดอนรัก ชุมชนเล็กๆ ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ด้วยแรงร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร กำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต.ดอนรัก และขาดไม่ได้ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้โครงการเกิดเป็นรูปร่าง เวลานี้ใครขับรถจากสงขลามาปัตตานี ตามถนนหลวงหมายเลข 42 จะเห็นป้ายฟาร์มชุมชนตำบลดอนรักตั้งเด่นหรา ด้านหน้ามีซุ้มจำหน่ายผักผลไม้สดปลอดสารพิษ น้ำสมุนไพรเย็นชื่นใจ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากฝีมือชุมชน เช่น เสื้อยืด หมวก ลึกเข้าไปด้านในเป็นฟาร์มปลูกผักหลากหลายชนิดที่งอกงาม และกำลังทยอยออกผล
“จักรี เจ๊ะสอเหาะ” กำนันตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย มีการพูดคุยกับชาวบ้านในร้านน้ำชาถึงเรื่องปลูกผัก ขณะนั้นได้ทำเป็นกลุ่มเล็กๆ 7-15 คน กระทั่งมีโครงการ ๙๑๐๑ ที่มีงบประมาณมาให้ 2.5 ล้านบาท จึงได้ทำประชาคมร่วมกับชาวบ้านอีกครั้ง ลงความเห็นว่าทำฟาร์มปลูกผักกัน จึงแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ ค่าแรง 1.5 ล้านบาท สำหรับสมาชิก 500 คน คนละ 300 บาท เป็นเวลา 10 วัน และค่าวัสดุ ค่าบริหารจัดการอีก 1 ล้านบาท โดยพยายามทำทุกอย่างตามรอยเท้าพ่อ เช่น ในพื้นที่ปลูกผักจะมีแก้มลิงเล็กๆ ไว้กักเก็บน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“วันนี้โครงการจบแล้ว แต่เรายังบริหารให้เดินต่อไป อยู่ระหว่างขยายเครือข่ายของหมู่บ้าน ซึ่งมี 7 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะทำนา และปลูกผัก เราเลยแบ่งชาวบ้านเป็น 2 ชุด ชุดแรกให้ไปปลูกที่บ้าน แล้วนำมาขายหน้าร้าน เน้นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อีกชุดต้องหาคนที่อยากจะมาปลูกที่นี่ รายได้เท่าไหร่ต้องแบ่งให้ชาวบ้านได้ประโยชน์มากที่สุด อีกส่วนนำมาบริหารฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันฟาร์มมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1 พันบาท”
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน มีแผนจะพัฒนาให้เป็นฟาร์มเชิงท่องเที่ยว ซึ่งในเรื่องทำเลนั้นหายห่วง เนื่องจากที่ตั้งของฟาร์มเป็นพื้นที่ของชลประทานอยู่ติดกับถนนสายหลัก หมายเลข 42 ถามว่าทำเลดีแค่ไหน เอาเป็นว่าราคาที่ดินฝั่งตรงข้ามทะยานไปที่ไร่ละ 10 ล้านบาทแล้ว
“ที่ตั้งเราเหมือนเป็นประตูเมือง จากสงขลาก็ต้องผ่านตรงนี้ จะเข้าเมืองต้องมาตรงนี้หมด ถือเป็นจุดเด่นของเรา และมีชลประทานล้อมรอบ ดังนั้นอนาคตอาจจะทำเชิงท่องเที่ยว เช่น นั่งแพ เรือพาย เปิดร้านกาแฟ เราต้องพยายามทำทุกอย่าง ล่าสุดออกแบบเสื้อยืดขาย เพื่อให้มีรายได้เข้าฟาร์มมาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”
ด้าน “ณัฐชนา วาโย” เกษตรตำบลดอนรัก ดูแลฟาร์มดอนรักในโครงการ ๙๑๐๑ เล่าว่า ฟาร์มตั้งอยู่บนพื้นที่ของชลประทาน 6 ไร่ โดยทำหนังสือจากสำนักงานเกษตรอำเภอในนามของคณะกรรมการ ๙๑๐๑ ขอใช้พื้นที่ ซึ่งชลประทานให้เราใช้ได้ตลอด เริ่มต้นมาให้ความรู้ชาวบ้านที่เข้าร่วม 500 คน เช่น การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ตอนนี้ผลผลิตหลักๆ คือ ผักบุ้ง เห็ดนางฟ้า แตงกวา ข้าวโพด เป็นต้น โดยเน้นเรื่องปลอดสารพิษ
“สิ่งที่ท้าทายคือ หลังจบโครงการเมื่อไม่มีงบประมาณในการจ้างแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งจากการพูดคุย ฟาร์มต้องเดินต่อไปได้ เราอย่าให้ใครมาดูถูกว่าพอไม่มีเงินแล้วเราจบ กลับเป็นที่รกร้างเหมือนเดิม”
ณัฐชนา บอกอีกว่า จากการพูดคุยกับสมาชิกทั้ง 500 คนแล้ว บางส่วนจะกลับไปเป็นลูกไร่ โดยปลูกที่บ้านของตนเองแล้วส่งมาขายที่ฟาร์ม ขณะที่คนที่ยังอยากทำงานในฟาร์มมีประมาณ 10 คน ที่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง สามารถมาใช้พื้นที่ฟาร์มได้ โดยมาแค่ตัวกับใจที่อยากทำงาน ด้านวัสดุอุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เรามีให้หมด จากนั้นผลผลิตจำหน่ายได้เท่าไหร่นำมาแบ่งกันคนละครึ่งกับฟาร์ม
“วันนี้เราทำงานให้พ่อหลวงของเรา เดินตามรอยเท้าพ่อ และมีชาวบ้านร่วมอุดมการณ์ทำ เราปลูกฝังเรื่องหนึ่งว่า วันนี้เราได้เงินของพ่อมาสองล้านห้า เงินของพ่อมาฝังอยู่ที่ดอนรักแล้ว เราจะต้องทำให้เงินงอกเงยให้ได้ นี่คือความคาดหวังในอนาคต”
ดังนั้น จึงไม่เพียงส่งเสริมการปลูก วันนี้เกษตรตำบลต้องควบหน้าที่ส่งเสริมการขายด้วย โดยช่วยหาตลาด มีทั้งแบบปากต่อปาก หรือ โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ รวมถึงการประสานกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐเพื่อหาช่องทางจำหน่าย
“ทุกวันนี้ตอนเช้าก่อนจะไปทำงาน จะมาให้เด็ก ๆ เปิดร้าน แล้วจะถ่ายรูปเข้าไลน์กลุ่มสำนักต่างๆ ว่าวันนี้ฟาร์มดอนรักมีผักอะไรขายบ้าง เรามีโปรโมชั่น พื้นที่อำเภอเมือง และหนองจิก ส่งฟรี นอกจากนี้เราต่อยอดด้วยการทำเสื้อยืดฟาร์ม เช่น ถ้าใครเป็นลูกค้าใส่เสื้อมา เรามีโปรโมชั่นลดพิเศษ เป็นต้น”
เสียงเกษตรตำบลย้ำอีกว่า ตนเองนั้นเป็นคนต่างถิ่นมาทำงาน วันหนึ่งก็ต้องไป แต่หลังจากที่เราไป ชาวบ้านทุกคนต้องอยู่ได้ และยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ