วังขนายผนึกสยามคูโบต้า ใช้นวัตกรรมปลูกอ้อยเพิ่ม

“วังขนาย” ผนึกคูโบต้าดันไอเดียเกษตรสมัยใหม่ Kubota agri solutions นวัตกรรมลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หนุนยอดน้ำตาลออร์แกนิก ตั้งเป้าขยายผลผลิตอ้อยอินทรีย์เพิ่ม 30%

นางสาวธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย เปิดเผยว่า เนื่องจากกลุ่มวังขนายตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย นำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกเพื่อการส่งออกนั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย บริษัทจึงได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้าฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยที่เหมาะสม และไร้สารเคมี ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วพื้นที่ 30,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา และลพบุรี อย่างไรก็ดี ล่าสุดวังขนายได้เข้าร่วมโครงการภาครัฐเปลี่ยนนาข้าวเป็นอ้อย และสนับสนุนพื้นที่เกษตรอินทรีย์สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์ จะเพิ่มค่าอ้อย 100 บาท ต่อตัน และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะเพิ่มค่าอ้อย 50 บาท ต่อตัน ในอนาคตอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการส่งเสริมแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ

“เมื่อก่อนออร์แกนิกค่อนข้างราคาสูงเพราะผลผลิตน้อย แต่ตอนนี้เรามองว่า การที่เราเป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 น้ำตาลออร์แกนิก ทุกคนต้องเข้าถึงราคาได้ จึงต้องขยายพื้นที่อินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น จากเมื่อก่อนเราขาย 80 บาท ต่อกิโลกรัม ตอนนี้ขาย 32 บาท ต่อกิโลกรัมได้ เพราะเรามีผลผลิตมากขึ้น ซึ่งอนาคตเราตั้งเป้าขยาย 30% การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรจะช่วยรักษาคุณภาพออร์แกนิก เช่น ช่วยกั้นสารเคมีจากแปลงนาอื่นแล้วยังลดต้นทุนแรงงานชาวไร่ได้มากเท่าตัว ที่ผ่านมาเราสนับสนุนให้กู้และบริษัททำลักษณะกึ่งคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งร่วมกับเกษตรกรเพื่อรายได้ที่มั่นคง”

ทั้งนี้ วังขนายมีกำลังผลิตน้ำตาลออร์แกนิกอยู่ที่จำนวน 15,000 ตัน จำหน่ายในประเทศประมาณ 75% และอีก 25% จำหน่ายในประเทศแถบเอเชียและยุโรป อาทิ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โอเชียเนีย และนิวซีแลนด์   

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทสยามคูโบต้าฯ ได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม Kubota (agri) solutions (KAS) ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตซึ่งได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรครบวงจร หรือ KAS มาอย่างต่อเนื่อง และให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความแม่นยำและประณีต ซึ่งจะได้ผลผลิตจำนวน 26.64 ตัน ต่อไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท ต่อไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท ต่อไร่

ทั้งนี้ จากผลที่ผ่านมา การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง และส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกได้มาตรฐาน       

“อนาคตสยามคูโบต้าฯ จะเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ด้วยนวัตกรรม KAS ซึ่งเรามีเป้าหมายขยายพื้นที่ตัวเลขนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าร่วมของผู้แทนจำหน่ายปัจจุบันมีเข้าร่วม 20 ดีลเลอร์ แต่คาดว่าภายในปี 2019 จะให้ผู้แทนจำหน่ายเข้าร่วมหมด 80 แห่งได้แน่นอน” นายสมศักดิ์กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560