“คีรีวง” นักท่องเที่ยวทะลัก ขยะ-รถติด-วิถีชุมชนเปลี่ยน

ชุมชนคีรีวง” หลังประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2531 ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันฝ่าวิกฤต จนวันนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชูจุดเด่นเป็นสถานที่อากาศดีที่สุดในประเทศทว่าเมื่อมีคนเข้ามาก ปัญหาต่าง ๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะเรื่องขยะที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน

บ้านคีรีวง ตั้งอยู่ในเวิ้งหุบเขาของ ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ที่เคยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2531 พร้อมกับเหตุการณ์ดินโคลนถล่มพื้นที่ ต.กะปูน อ.พิปูน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความร้ายแรงจากน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม ชาวบ้านต้องสังเวยชีวิตนับร้อยนับพันราย ส่วนผู้ที่รอดชีวิตล้วนต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างยาวนาน

สำหรับบ้านคีรีวง คนในชุมชนได้ปลูกฝังให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด แม้ในยามที่ลำบากก็ต้องต่อสู้ ล้มลุกคลุกคลานมาถึงจนวันนี้ ทุกคนได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาใช้ โดยช่วยกันก่อร่างสร้างเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาใหม่ และขยายผลจากการนำวัสดุในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นหัวใจของการฟื้นชุมชนคีรีวงจนเกิดผลประจักษ์ชัด

ปัจจุบันบ้านคีรีวงกลายเป็นเดสติเนชั่นใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนไม่ขาดสาย เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ มาชมความงามของธรรมชาติที่สวยงาม โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 400-500 คน/วัน หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากจึงทำให้เกิดปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาขยะ ปัญหารถติด รวมทั้งการใช้ชีวิตของชาวบ้านได้เปลี่ยนไปด้วย

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ดูแลชุมชน คือองค์การบริหารส่วนตำบลกำโลน ต้องหาแนวทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการให้เข้ามาดูแลนักท่องเที่ยว คอยแนะนำเรื่องการทิ้งขยะ/เศษอาหาร รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน

“นิพัฒน์ บุญเพ็ชร” รองนายก อบต.กำโลน กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และปีใหม่ และปี 2560 นี้ปริมาณนักท่องเที่ยวยิ่งเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องเปิดศูนย์ดูแลการท่องเที่ยว โดยมีคณะกรรมการดูแลชุมชน เช่น การแก้ปัญหาจอดรถกีดขวางการจราจร การรื้อถอนร้านค้าที่ดูไม่เหมาะสม และมีการปรับแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม

“ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีคนเข้ามาเยอะมาก ตอนนี้จึงห้ามนำรถไปจอดที่บริเวณหน้าวัดคีรีวง เพราะรถติดมาก ซึ่งกำลังเร่งจัดลานจอดรถรองรับได้ประมาณ 100 คัน จะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะรถบัสนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาดูงาน จะจัดให้จอดเป็นที่เป็นทาง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนคีรีวง”

ส่วนการจัดการขยะนั้น ทาง อบต.กำโลนจะเข้ามาทำความสะอาดทุกวัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวที่มาศึกษาดูงาน นำขยะเข้ามาเท่าไหร่ก็ขอให้ใส่ถุงดำนำกลับไปด้วย รวมทั้งพูดคุยกับผู้ประกอบการ ร้านค้าให้มีการแยกขยะด้วย

สำหรับชุมชนคีรีวงมี 4 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 4,000 คน ส่วนประชากรแฝงไม่มี เนื่องจากคนในชุมชนจะตรวจสอบไม่ให้ใครเข้ามาทำให้วิถีชุมชนเสียหาย ส่วนรีสอร์ทมีประมาณ 20 แห่งซึ่งเป็นรีสอร์ท 5 ดาวทั้งหมด ส่วนโฮมสเตย์มีประมาณ 100 หลัง ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรีสอร์ทและโฮมเสตย์เป็นคนในชุมชนถึง 98% โดยมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

ส่วนผู้ที่เดินทางมาศึกษาดูงานด้วยรถบัสโดยเฉลี่ยแล้วจะเข้ามาวันละ 4 คัน มาดูงานของกลุ่มอาชีพในชุมชน ซึ่งมีกลุ่มหลักรวม 6 กลุ่ม คือ 1.ผ้าลายเทียนสีธรรมชาติ 2.ผ้าใบไม้สีธรรมชาติ 3.กลุ่มลูกไม้ 4.กลุ่มสบู่หรือกลุ่มสมุนไพร 5.กลุ่มผ้ามัดย้อม และ 6.กลุ่มแม่บ้านทุเรียนกวน ซึ่งทุกกลุ่มประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพนี้ ถือว่าชุมชนบ้านคีรีวงกำลังบูมมากในขณะนี้

ส่วนแนวทางการพัฒนาต่อไปคือต้องการให้คีรีวงเป็นเมืองสวรรค์ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งได้จัดทำแผนเสนอไปยังอำเภอลานสกา และเสนอจังหวัดต่อไป นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย เพราะหากปล่อยให้มามากจนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่มีคนเข้ามาเยอะมากตอนนี้

สำหรับแนวทางการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวนั้น กำหนดให้รถบัสนำนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 5-6 คัน เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ

“สิ่งที่จะฝากนักท่องเที่ยวคือ ขอให้เชื่อกฎระเบียบของชุมชน เข้ามาแล้วต้องรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชุมชนด้วย และต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะหากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คงไม่มีใครอยากมาอีก”นายพิพัฒน์กล่าวย้ำ

นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของชาวคีรีวง ที่จะรักษาจุดแข็งจุดขายความเป็นธรรมชาติ และวิถีชุมชนกับคลื่นนักท่องเที่ยวที่ยังคงหลั่งไหลเข้าไปเยือนมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ