สธ.หนุนเครื่องสำอางสมุนไพร

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานด้าน Medical Hub ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2557-2560) และร่วมกับ 8 กระทรวง และภาคเอกชน ได้ยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าหมายเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรไทยที่เป็นระบบ มีความยั่งยืน มีการวิจัยพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งผลักดันให้พืชสมุนไพรของไทยเป็น 1 ในพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนโมเดลไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายประชารัฐของรัฐบาลสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย และโอกาสขยายช่องทางธุรกิจสมุนไพรไปยังประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“กรมได้พัฒนาวิธีตรวจสอบเอกลักษณ์สารสำคัญชี้บ่งสมุนไพรในเครื่องสำอางผสมสมุนไพร มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันสามารถพัฒนาวิธีการตรวจเอกลักษณ์สารสำคัญชี้บ่งสมุนไพรได้แล้วจำนวน 26 ชนิด ได้แก่ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน ไพล บัวบก ตะไคร้หอม ตะไคร้แกง ชาเขียว หม่อน มะกรูด ว่านหางจระเข้ เมล็ดองุ่น กระชายดำ เทียนกิ่ง ชะเอมเทศ มะละกอ แครอต ทานตะวัน กระเทียม แตงกวา อัญชัน มะคำดีควาย ฟักข้าว มะหาด มังคุด มะขาม และกาแฟ” อธิบดีกรมฯ กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า นอกจากการตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารห้ามใช้โลหะหนัก และเชื้อจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพเครื่องสำอางผสมสมุนไพรเพื่อหาสารสำคัญชี้บ่งสมุนไพรที่ระบุว่าเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางสมุนไพรไปแล้วจำนวน 435 ตัวอย่าง พบว่ายังมีเครื่องสำอางผสมสมุนไพรที่ตรวจไม่พบสารสำคัญชี้บ่งสมุนไพรตามที่ระบุไว้ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้นำองค์ความรู้ไปช่วยผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงการดูแลรักษาวัตถุดิบเพื่อช่วยกันผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีคุณภาพต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2560