คอลัมน์บัญชีชาวบ้าน : นักบัญชีต้นทุนกับกิจการผลิตสินค้า

อันที่จริง งานของนักบัญชีต้นทุนจะอยู่ในกิจการแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ผลิตสินค้า กิจการซื้อมาขายไป กิจการขนส่งสินค้า กิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือแม้แต่ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านกาแฟ ฯลฯ แต่นักบัญชีต้นทุนที่เรามักจะมองเห็นและแยกส่วนงานออกมาชัดเจนจริงๆ มักอยู่ในกิจการที่มีกระบวนการผลิต โดยส่วนประกอบหลักของต้นทุน ได้แก่ 1. วัตถุดิบ 2. ค่าแรง และ 3. โสหุ้ยการผลิต (หรือต้นทุนทางอ้อมต่างๆ) นักบัญชีต้นทุนจะรวบรวมข้อมูลการใช้วัตถุดิบ ต้นทุนจากเครื่องจักร ค่าแรงงานทางตรงและทางอ้อม และปัจจัยการผลิตต่างๆ ฯลฯ

การเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น เพื่อให้ทราบว่า สินค้าที่ผลิตออกมานั้นมีต้นทุนการผลิตเท่าไร ประสิทธิภาพการผลิตเป็นอย่างไร มีอัตราการสูญเสียเท่าไร มีผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by-product) หรือไม่ มีต้นทุนการบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร (ต้นทุนการบำบัดของเสียเป็นต้นทุนที่สำคัญตัวหนึ่งที่มักถูกละเลยหรือผลักภาระไปที่สังคมแทน)

งานของนักบัญชีต้นทุนจึงมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากนักบัญชีการเงินค่อนข้างมาก นักบัญชีการเงินเป็นผู้รวบรวมข้อมูลทางการเงินในทุกๆ ส่วนของกิจการ เพื่อนำมาปิดบัญชี และจัดทำงบการเงิน ในขณะที่นักบัญชีต้นทุนจะมีขอบเขตงานเฉพาะและจำกัด (แต่ลงลึก) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงาน (ที่เรียกกันว่า operation) โดยตรง

นักบัญชีต้นทุนจึงต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิต และขั้นตอนการดำเนินงานทางธุรกิจ เรียกว่า ต้องรู้มากกว่าเรื่องบัญชี จึงจะสามารถจินตนาการเพื่อออกแบบวิธีการรวบรวมต้นทุนด้วยเทคนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยการเก็บตัวเลข ทำประมาณการ รวบรวมสถิติการทำงานที่ผ่านมา การใช้ต้นทุนมาตรฐานมาช่วย เพราะในความเป็นจริง ใช่ว่าเราจะสามารถเก็บตัวเลขต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้ในทุกกรณี

สมัยก่อนนักบัญชีต้นทุนมักจะทำงานในกิจการที่มีโรงงาน เนื่องจากเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับข้อมูลและเนื้อหาที่อยู่ในสายการผลิต ทำงานร่วมกับวิศวกร ร่วมกับฝ่ายผลิตในการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิตมาประมวลผล เพื่อใช้เป็นตัววัดว่า การผลิตสินค้าชนิดต่างๆ มีส่วนประกอบต้นทุนอย่างไร วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะต้องอาศัยเทคนิคและตัวช่วยพอสมควร เนื่องจากการใช้ทรัพยากรในบางช่วงการผลิตอาจจะได้ข้อมูลมาค่อนข้างยาก หากไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตรวัดหรือมิเตอร์ที่ระบบสามารถบันทึกตัวเลขเพื่อเก็บข้อมูลได้

นักบัญชีต้นทุนจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการผลิตพอสมควร อาจจะไม่ใช่ในเชิงวิศวกรรม แต่ต้องเข้าใจขั้นตอนและจุดสำคัญในการวัดตัวเลขต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต หรือมองการผลิตในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่จะนำตัวเลขมาวัดประสิทธิภาพ และความแตกต่างของการผลิตแต่ละงานได้

กิจการซื้อมาขายไปก็ต้องมีนักบัญชีต้นทุน

มีกิจการบางประเภทที่แม้ว่าจะไม่มีการผลิต แต่การคำนวณราคาขายจำเป็นต้องทราบต้นทุนที่แท้จริงของสินค้า และต้นทุนสินค้าก็ไม่ได้ประกอบด้วยราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่น กิจการนำเข้าสินค้ามาเพื่อขายในประเทศ กิจการนำเข้าจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาสินค้ามาเพื่อขาย มีค่าระวางเรือ มีค่าขนส่งสินค้า มีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมีอากรสินค้าจากการนำเข้า และผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศโดยสั่งซื้อกันเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

กิจการนำเข้าจึงต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะในการคำนวณต้นทุน จัดทำใบรวบรวมต้นทุน ที่เรียกว่า Cost Sheet โดยแต่ละล็อตของสินค้าที่นำเข้ามานั้นจะมีส่วนประกอบของต้นทุนคล้ายๆ กัน แต่ไม่เท่ากัน

ต้นทุนร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านกาแฟ

การทำต้นทุนของกิจการที่เป็นร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ก็คล้ายกับการทำต้นทุนการผลิต ต้นทุนทางตรงอาจจะเป็นอาหารสดอาหารแห้งที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร เม็ดกาแฟที่ใช้ในการชงกาแฟแต่ละแก้ว เงินเดือนพ่อครัว ผู้ช่วยพ่อครัว บาริสต้า ต้นทุนทางอ้อมอาจจะเป็นเครื่องปรุง เครื่องเคียง จานชาม พนักงานจดอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างชาม โสหุ้ยการผลิตอาจจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ต่างๆ ในร้าน ซึ่งนักบัญชีต้นทุนจะต้องประยุกต์แนวคิดของบัญชีต้นทุนให้สอดคล้องกับธุรกิจนั้นๆ

 

ต้นทุนการให้บริการ ต้องใช้นักบัญชีต้นทุนหรือไม่

ธุรกิจที่เป็นการให้บริการนั้น เอาเข้าจริงจะแตกต่างจากกิจการผลิตและร้านค้าค่อนข้างมาก บางคนบอกว่าจับต้องได้ยากกว่า หาต้นทุนในการให้บริการได้ยากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการให้บริการส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เช่น เงินเดือน ค่าแรงช่าง ค่าวิชาชีพ ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

กิจการให้บริการโดยทั่วไปต้องตีมูลค่าต้นทุนออกมาเป็น อัตราค่าบริการต่อชั่วโมงการทำงาน แล้ววัดการให้บริการในแต่ละเรื่อง แต่ละประเภทออกมาว่าใช้เวลาในการให้บริการโดยประมาณเท่าไร ในทางบัญชี ธุรกิจบริการต้องวัดต้นทุนโดยคำนวณเป็นหน่วยของการให้บริการ และต้องหาค่าประมาณของต้นทุนบริการต่อหน่วยวัดดังกล่าว ก็จะสามารถระบุต้นทุนการให้บริการที่จับคู่กับรายได้ออกมาได้ โดยทั่วไป เราจึงไม่ค่อยเห็นนักบัญชีต้นทุนในกิจการให้บริการ ยกเว้นงานบริการนั้นมีลักษณะการให้บริการที่เฉพาะเจาะจงในลักษณะ Job Order Costing

ธุรกิจโฆษณา มีต้นทุนหลัก คือ ค่าสื่อและค่าแรง ซึ่งต้องใช้ Time Sheet ในการบันทึกเวลาการทำงานของครีเอทีฟ ต้นทุนของงานบริการจึงมีลักษณะเฉพาะเจาะจงตามแต่ลักษณะและประเภทของธุรกิจ

 

ต้นทุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ในปัจจุบันมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต ระบบเครือข่ายโทรคมนาคม หรือต้นทุนของกิจการสื่อสาร กิจการที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี ต้องวัดต้นทุนของการให้บริการในเครือข่ายสำหรับผู้ใช้งานระบบสื่อสารหรือเทคโนโลยี ต้นทุนสำคัญของกิจการเหล่านี้จึงเป็นเรื่องเงินลงทุนในเครือข่ายและอุปกรณ์ ลองจินตนาการดูว่าวิธีการคิดต้นทุนของกิจการเหล่านี้ย่อมแตกต่างจากกิจการผลิตสินค้าโดยสิ้นเชิง โดยจะต้องมีโมเดลการคิดต้นทุนที่แตกต่างจากกิจการผลิต

งานของนักบัญชีต้นทุนเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการบริหารสินค้าคงคลัง

ลักษณะของเนื้องานที่ต่อเนื่องกันสำหรับนักบัญชีต้นทุนในกิจการผลิตนั้น นักบัญชีต้นทุนมักจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับ การควบคุมสินค้าคงเหลือ การจัดวางระบบการจัดเก็บสินค้าให้มีความเที่ยงตรง เนื่องจากการบริหารสินค้าคงคลังเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกิจการผลิตหรือซื้อมาขายไป

นักบัญชีต้นทุนจึงต้องมีความรู้ความชำนาญเรื่องระบบการบริหารสินค้าคงเหลือ ซึ่งขอบเขตของระบบการบริหารสินค้าคงเหลือในโลกยุคนี้มันกินความไปถึงเรื่องโลจิสติกส์ หรือซัพพลายเชน ที่ไล่สายตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า การขนส่งสินค้า การจัดส่งสินค้า การโหลดของ การส่งของ การบริหารการสั่งซื้อที่มีประสิทธิภาพ การขจัดต้นทุนจม การไม่เก็บสินค้าไว้มากเกินไป ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ครอบคลุมการทำธุรกิจอย่างกว้างขวาง นักบัญชีต้นทุนจึงต้องรอบรู้และเข้าใจโลกธุรกิจอย่างมาก ความรู้ด้านบัญชีอาจถือได้ว่าเป็นส่วนเสี้ยวของงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งหมด

ประกอบกับในโลกยุคดิจิตอล การนำตัวช่วยด้านข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่นักบัญชีต้นทุนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาความรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการด้านต้นทุนและสินค้าคงเหลือเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เช่นนั้นแล้วคงเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับกิจการอื่น เหมือนอย่างที่เขาพูดกันว่า ทุกวันนี้สินค้าตัวเดียวกันมีกำไรขั้นต้นที่บางเฉียบ (คือน้อยมาก) ใครที่สามารถหาวิธีลดต้นทุนลงได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งได้แล้ว ในทางตรงกันข้าม หากใครมีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งเพียงเล็กน้อย ก็ยากที่จะแข่งขันกับเขาได้ต่อไปต