เล็งใช้โควตาอ้อยน้ำตาลต่อ “สูตรลอยตัว” วุ่นชาวไร่ชงโรงงานบวก 3 บาท

ผู้บริโภคเตรียมแบกรับราคาน้ำตาล 5 บาทต่อ หลัง “สูตรลอยตัวน้ำตาล” จบไม่ลง สอน.เล็งให้ยึดกฎหมายเดิมฤดูกาลนี้ไปก่อน เผยชาวไร่ชงบวกเพิ่มราคาขาย 3 บาทให้ผู้บริโภคแบกเหมือนเดิม แต่โรงงานหวั่นผิดกฎหมาย 

หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประกาศลอยตัวน้ำตาลที่ขายภายในประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และแจ้งว่าจะมีการยกเลิกระบบโควตา ก. (น้ำตาลบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 8 แสนตัน) โควตา ค. (น้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนที่เหลือโดยหักโควตา ก. และโควตา ข. ออกจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมด) แต่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าไม่สามารถประกาศลอยตัวได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคมนั้น

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เรื่องการลอยตัวยังมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนการประกาศลอยตัวออกไป โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวไร่อ้อยมีความพยายามจะให้โรงงานบวกเงินเพิ่มเข้าไปในราคาขาย 2-3 บาท เหมือนกับโครงสร้างเดิมที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการบวกเงินเพิ่ม 5 บาทเข้าไปในราคาขาย เพื่อนำเงินจากผู้บริโภคไปใช้หนี้เงินกู้แทนชาวไร่อ้อยผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และการบวกเพิ่มดังกล่าวไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีรองรับหลายโรงงานเกรงจะเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงมีการหารือถึงขั้นที่จะให้ออกมาตรา 44 รองรับระเบียบดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงค่อนข้างมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตต่อไปจะยังคงใช้กฎหมายและระเบียบเดิมไปก่อน เท่ากับผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท เพื่อใช้หนี้ให้ชาวไร่ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลยังติดค้างอยู่ 5,800 ล้านบาทกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาตั้งแต่ปี 2558/2559

แม้ในที่ประชุมคณะ กอน.เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 60 จะได้ผ่านความเห็นชอบ โดยเขียนระบุไว้ในร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. …ที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า เป็นการนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนมาบวกรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอนหมายเลข 5 และค่าส่วนเพิ่มทางการตลาดที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือน ส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แต่การให้โรงงานบวกเพิ่มราคาระเบียบดังกล่าวนี้ไม่ได้รองรับ

ทั้งนี้ หากเปิดเสรีลอยตัวจริงคือ เมื่อนำราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกไทยพรีเมี่ยม ให้ถือเป็นราคาอ้างอิงกลาง และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจราคาขายหน้าโรงงาน หากโรงงานใดขายสูงกว่าราคาอ้างอิงดังกล่าวให้นำส่วนต่างตรงนั้นส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียภาพของระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งส่วนต่างไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเท่าไหร่ โรงงานใหญ่บริหารต้นทุนดีราคาต้นทุนต่อหน่วยอาจจะต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า

“ฝ่ายชาวไร่อ้อยจึงพยายามล็อบบี้แต่ละโรงงานให้บวกราคาน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคเหมือนเดิม ซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย และไม่ได้มีส่วนได้เงินตรงนั้นด้วย แถมยังต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย จึงยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายราชการไม่สามารถหาทางออกให้กับชาวไร่อ้อยได้

ที่จะทำให้การเก็บเงินจากผู้บริโภคเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตอนนี้ชาวไร่อ้อยเองที่จะให้บวกเงิน 3 บาทเพิ่ม ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะให้ไปบอกประชาชนได้อย่างไรว่า เงิน 3 บาทที่มาบวกเพิ่มมีที่มาที่ไปของเงินอย่างไร ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนคิดมาจากโรงงานน้ำตาลอย่างไร และยังไม่รู้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะราคาเฉลี่ยที่ออกมาจะมองว่าเป็นการฮั้วราคาหรือเปล่า

Advertisement

ที่สำคัญหลายคนยังกังวลว่า การบวกเงิน 3 บาทดังกล่าวเข้าไปหากราคาออกมาสูงกว่าตลาดโลก 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่อาจจะสั่งนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแทนย่อมทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกตลาดเสรี จึงเท่ากับว่า การเปิดเสรีราคาน้ำตาลของไทย ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เพราะยังโอบอุ้มชาวไร่ไว้เหมือนเดิม

 

Advertisement

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์