บึงกาฬตะมุตะมิ ช้างป่างาเดียวโผล่เล่นน้ำกลางทุ่งบัวแดงทั้งที่ห่างจากพื้นที่อาศัยราว 10 กม.

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีช้างป่าลงมาเล่นน้ำที่บริเวณบึงโขงหลง ตรงกับบ้านเจริญสุข หมู่ 12 ต.โสกก่าม อ.เซกา จ.บึงกาฬ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และรุดไปยังจุดที่ชาวบ้านพบช้างป่า พบว่าเป็นช้างป่าเพศผู้ 1 ตัวมีงาเดียวด้านขวา คาดว่าพลัดหลงฝูงมาจากป่าภูวัว กำลังเล่นน้ำแบบชิวๆ อยู่ในบึงโขงหลงห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร ท่ามกลางดงบัวแดง กอสนม และสาหร่ายหางกระรอก ระดับน้ำลึกถึงกลางลำตัวช้าง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวโดยนายสุนทร หมูทอง และนายไพสิทธิ์ ปัททุม ต้องคอยแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้เข้าใกล้และเฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของช้างตลอดเวลา พร้อมทั้งประสานกับเจ้าหน้าที่อีกชุดให้เข้ามาสมทบ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงให้ความสนใจมาดูช้างกว่า 20 คน

หลังช้างเล่นน้ำอยู่ในบึงโขงหลงอย่างสบายอารมณ์นานประมาณ 45 นาที ช้างจึงเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งและเดินผ่านทุ่งนา เข้าไปยังสวนยางพาราในบริเวณใกล้เคียง และเดินข้ามถนนลาดยางบ้านเจริญสุขและผ่านไปตามทุ่งนา มุ่งหน้ากลับสู่ภูวัวโดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามการเคลื่อนที่ของช้างอย่างใกล้ชิด นับว่าโชคดีที่ช้างไม่ได้ทำอันตรายหรือสร้างความเสียหาย

ด้านนายอำพล แสงวิเชียร พนักงานขับรถดับเพลิง อบต.โสกก่าม กล่าวว่า ราวๆ 04.00 น. ตนได้ยินเสียงสุนัขเห่าผิดอยู่บริเวณหลังบ้านของตังเอง ทีแรกเห็นเงาตะคุ่มๆ นึกว่ามีคนมาขโมยไก่ พอเดินเข้าไปใกลๆเห็นชัดๆ ว่าเป็นช้างรู้สึกตกใจมาก จึงรีบถอยออกมา สุนัขที่เห่าอยู่ตลอดเวลาทำให้ช้างเคลื่อนตัวไปทางบึงโขงหลงและหายไปในความมืด รุ่งเช้าตนจึงรีบไปแจ้งความไว้กับทาง สภ.โสกก่าม

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวมีเนื้อที่ 186 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง เกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 150 – 300 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาหินทราย ลานหินและทุ่งหญ้า มีช้างป่าอาศัยอยู่ราวๆ 50 ตัว ซึ่งจุดที่พบเห็นช้างป่าอยู่ห่างจากบ้านเจริญสุขจุดช้างปรากฏตัวในแนวรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร เนื่องจากรอบๆ ภูวัวมีทั้งสวนยางพาราและนาข้าว ช่วงนี้ข้าวในนาสุกพร้อมเกี่ยวช้างอาจจะลงมากินข้าว อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่าช้างไปทำลายนาข้าวพืชสวนของเกษตรกรแต่อย่างใด

ที่มา : มติชนออนไลน์