พบ 2 ผู้ป่วย “แอนแทร็กซ์” กินแพะจากพม่า อยู่ที่ รพ.แม่สอด หมอรุดป้องโรค

ปลัด สธ.เผย พบผู้ป่วยโรคแอนแทร็กซ์ 2 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด เป็นชาวบ้านที่ชำแหละเนื้อแพะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมควบคุมโรคแนะวิธีสังเกตอาการ และวิธีป้องกัน พร้อมย้ำต้องกินอาหารที่ปรุงสุก ด้านปศุสัตว์ลงตรวจด่านกักสัตว์ที่แม่สอด ยังไม่พบสัตว์ติดเชื้อ แต่ให้ชะลอนำเข้าไว้ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจ

จากกรณีชาวบ้านแม่โกนเกน ม. 9 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก กินเนื้อแพะที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีเกิดเป็นแผลพุพองตามร่างกาย คล้ายผู้ป่วยโรคแอนแทร็กซ์ จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยชายซึ่งเป็นผู้ชำแหละแพะที่ตายแล้วสงสัยเป็นโรคแอนแทร็กซ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ว่า ในวันนี้ตนได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบเชื้อบาซิลลัส แอน ทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคแอนแทร็กซ์ในผู้ป่วย 2 ราย อาการมีตุ่มหนองที่มือทั้ง 2 ข้าง ขณะนี้ได้รับยารักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าตุ่มหนองจะหาย

นพ.เจษฎากล่าวต่อว่า สำหรับการควบคุมป้องกันโรค ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 ได้ติดตามประชาชนในหมู่บ้านที่รับประทานเนื้อแพะ และผู้สัมผัสโรคในหมู่บ้าน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ 247 คน ได้ให้ยารับประทานเพื่อป้องกันต่อเนื่อง 60 วัน และติดตามเฝ้าระวังโรค ขณะนี้ ทุกคนยังเป็นปกติดี พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และการป้องกันตัว แจกแผ่นพับภาษาไทย และภาษาพม่า และทำประชาคมสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในหมู่บ้าน โดยให้สังเกตอาการ เช่น ผิวหนังมีตุ่มหนอง มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก ลำคอ ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

นพ.เจษฎากล่าวต่อว่า ขอชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมแพทย์ที่ตรวจพบและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้ และขอย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบแพทย์เร็วรักษาให้หายขาดได้ และในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ อย่างไรก็ตาม อย่านำสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสซากสัตว์

“หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยโดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ตายหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง โรคนี้มียารักษาหากเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ให้รีบพบแพทย์ทันที” นพ.เจษฎากล่าว

นพ.เจษฎากล่าวด้วยว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เคยเจอผู้ติดเชื้อแอนแทร็กซ์ที่ จ.พิจิตร ครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อ โดยไม่ปรุงสุก ส่วนรายสุดท้ายที่พบผู้ป่วยในประเทศไทยก็คือเมื่อ 17 ปีก่อน ที่ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นที่เดียวกับครั้งนี้ จากนั้นก็ไม่เจอผู้ป่วยในประเทศไทยอีก ส่วนเพื่อนบ้านตนเชื่อว่า จะมีโรคดังกล่าวอยู่เพราะไม่มีระบบกักกันสัตว์เหมือนไทย

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว เข้าสอบสวนการเกิดโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านได้นำแพะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้ชำแหละแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านเพื่อปรุงอาหาร หลังจากนั้นเริ่มมีตุ่มเนื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นอาจป่วยด้วยโรคแอนแทร็กซ์

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า โรคแอนแทร็กซ์ เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้า แทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิสเข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว โรคแอนแทร็กซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อ ในประเทศไทยพบการติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย และผลิตภัณฑ์สัตว์ และติดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง

นพ.สุวรรณชัยกล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยจะมีอาการตามลักษณะการติดต่อ 1. การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการที่พบได้แก่ ผิวหนังที่ติดเชื้อมีลักษณะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้ 2. ระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ และ 3. ระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่งหากเข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือไม่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้

วิธีการป้องกันคือ 1. หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 3. หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค และ 4. เกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทั้งนี้หากเริ่มมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ที่ด่านกักสัตว์ อ.แม่สอด นายจิระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นพ.สมยศ กรินทราทันต์ รองผอ. โรงพยาบาลแม่สอด และสาธารณสุขอำเภอแม่สอด ร่วมกันแถลงกรณีชาวบ้านแม่โกนเกนติดเชื้อโรคแอนแทร็กซ์ ว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบจุดกักกันสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศจุดตรงข้ามบ้านแม่โกนเกน ม. 9 ต.มหาวัน พบมีแพะ 700 ตัว ทุกตัวยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่พบการระบาดของโรคแต่อย่างใด

ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เขตอำเภอแม่สอด ได้ชะลอการนำเข้าแพะจากชายแดนไทย-เมียนมา ในเฉพาะจุด ต.มหาวัน เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2560