อย่าแค่แถลง!! แกนนำยางเล็งบุกก.เกษตรฯ อีกรอบ หลังบริหารยางล้มเหลว จี้ปลด ‘บอร์ด-ผู้ว่ากยท.’

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มแกนนำยาง 20 องค์กรใต้ กล่าวถึงความคาดหวังในการแก้ไขปัญหายางพาราของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า พวกเราให้โอกาสและคาดหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามที่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ไม่ว่าจะกี่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกจุด และจุดที่จะต้องแก้ไขได้คือ ต้องลงมาหาข้อมูลเชิงลึก ลงมาสัมผัสกับเกษตรกรชาวสวนยาง และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกษตรกรชาวสวนยางได้ยื่นหนังสือให้เอาบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และ ผู้ว่า กยท. ออกทั้งชุด เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้บริหารยางล้มเหลว และหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯบริหารงานโดยโยนให้ กยท.รับผิดชอบ ก็เข้าสู่แบบเดิม แล้วก็จะทำให้รัฐเสียหายไปอีก

“ปัญหาอยู่ที่ ผู้ว่ากยท. และบอร์ด กยท. เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่สามารถหาทางแก้ไขได้ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากมหาศาล ก็เพราะผู้ว่า กยท. และบอร์ด กยท.ดังนั้นหากรัฐมนตรียังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ มันก็จะเกิดขึ้นอีก จะรักษาไข้ให้หายขาด ก็ต้องรักษาที่ต้นเหตุ มิใช่รักษาที่ปลายเหตุ รักษากันจนตายก็ยังไม่หาย มิหนำซ้ำโรคร้ายก็เวียนมาเกิดขึ้นอีก ซ้ำซาก” นายมนัส

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเคลื่อนไหว เดินทางไปยื่นหนังสืออีกหรือไม่ นายมนัส กล่าวว่า ก็ต้องให้โอกาสในการแก้ไขปัญหา หากแก้ไม่ตรงจุดก็ต้องนำจดหมายฉบับเดิมไปยื่นซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ท่านได้เห็น ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องรอดูมติกลุ่ม 20 องค์กรยางใต้อีกครั้ง

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางรายย่อย อ.ถ้ำพรรณรา กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารจัดการที่เอื้อกลุ่มทุน ถ้าเกษตรกรยังใช้วิธีการแบบเดิม ก็ไม่สามารถอยู่ได้ ที่เรานิ่งยังไม่ทำอะไร เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็ต้องให้โอกาสการทำงาน ประกอบกับน้ำท่วมทางภาคใต้ ผมเองต้องไปช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมก่อน เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน ยางก็ไม่ได้กรีด ปัญหาอยู่ที่ยางแปรรูป ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ที่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรแปรรูปตอนนี้อยู่ไม่ได้ เพราะราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้มีการหยุดการแปรรูปส่วนใหญ่ ส่งน้ำยางสด ออกสู่ตลาดเกือบทั้งหมด เป็นโอกาสของกลุ่มทุนที่เห็นยางเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิตแต่ละวัน รอทุบราคาเป็นช่วงๆ การจัดการยางต้องวิ่งสองทางคือไปเป็นน้ำยางและเป็นยางแห้ง จะมีการแข่งขันกันซื้อแต่ถ้าถูกบังคับไปทางใดทางหนึ่งด้วยเหตุใดก็ตาม ราคายางจะโดนทุบราคาโดยกลุ่มทุนตลอด กลุ่มทุนต้องการบริหารจัดการยางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

“เราเลยคิดว่า กยท.ต้องแยกจากกลุ่มทุนและบริหารจัดการยางเอง สำหรับทุนขายหุ้นให้เกษตรกร หรือดึงกลุ่มเกษตรกรที่แปรรูปร่วมทำสต็อกยางที่รอการขายก็ได้ สุดท้ายต้องเปลี่ยนนโยบายการบริหารจัดการใหม่ ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องยืนยันเปลี่ยนบุคคลที่มาบริหารการยางต่อไป เพราะการกระทำที่ผ่านมาเสียหายและไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางเลย” นายเรืองยศ กล่าว

ด้านนายกรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ไม่อยากให้ชาวสวนยางมองที่การแก้ปัญหาที่ฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อยากให้มองที่ตัวเองด้วย วันนี้ต้นยางเติบโตให้ผลผลิตทั้งประเทศ จึงไม่แปลกที่อะไรมากๆ ย่อมมีราคาถูก แต่วันนี้ชาวสวนยางก็ต้องหันกลับมามองที่ตัวเองด้วยว่า ควรจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ตนไม่อยากให้เปลี่ยนแล้วมีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต แต่อยากให้คิดเพื่อต่อยอดว่าอะไรที่มีแล้วจะปรับเปลี่ยน แปรรูปเป็นอย่างอื่นที่จะสนองตอบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างไร ดังนั้นในเวลานี้สิ่งแรกที่จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ก็คือ เราจะอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ครอบครัวอยู่ได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ต่างหาก

ที่มา มติชนออนไลน์