มะอึก คุณปู่รากเหง้ามะเขือ

หลายพื้นที่จะมีพืชชนิดนี้ขึ้น ใบเหมือนมะเขือ มีหนามเหมือนมะเขือพวง มีลูกออกมาเป็นช่อ ช่อพวงละหลายลูก มีขนปกคลุมผลมาก เมื่อตอนผลแก่สุกจะดูสวยงาม ก็สวยกว่าผลของพืชอื่น แต่ถ้าดูให้น่ากลัว ก็จะเกรงกลัว ขนปุกปุยที่ดูเหมือน ขนของตัวบุ้งตัวหนอน ที่พร้อมจะทำร้ายคนที่จะเข้าไปเด็ด สัตว์ที่จะเข้าไปกัดกินหรือทำลาย ยิ่งหนามขนที่ขึ้นทุกส่วนของต้น ยิ่งน่ากลัวอยู่น้อยเสียเมื่อไร แต่สำหรับผู้คนที่รู้จักพืชชนิดนี้ จะบอกว่า น่ารักดี นี่แหละอาหารที่น่ากิน

“มะอึก” ชื่อเขาแปลกๆ เหมือนเป็นคำที่เคยใช้ล้อคนอาภัพผม สมัยก่อนเขาล้อกันเล่น แต่ก็เป็นเรื่องกันเยอะ เพราะคนที่ถูกล้อว่า มะอึกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หลากมากดี เศรษฐี เจ้าขุนเจ้าคุณ อย่างน้อยก็ระดับกำนัน และเป็นผู้ชาย ซึ่งมะอึกนั้นทางภาคเหนือเรียก “มะเขือปู่” หรือ “มะปู่” ภาคอีสานเรียก “หมักอึก”หรือ “หมากอึก” เชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้จัก เคยกิน หรือไม่ก็เคยผ่านหูผ่านตา มาบ้างแล้ว มะอึก เป็นไม้ในวงศ์เดียวกับมะเขือ มะเขือพวง มะแว้ง คือวงศ์ SOLANACEAE  ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum Stramonifolium Jacq.

เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ 80-150 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มคล้ายมะเขือพวง ขนาดลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ผิวเปลือกต้นเรียบ สีเขียว และมีนวลสีขาวเมื่อแก่ ลำต้นมีหนามแหลม และขนละเอียดขึ้นคลุมเต็มหมด ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว รูปร่างใบเป็นรูปไข่กว้างรี ขอบใบหยักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบออกเรียงสลับ ปลายใบแหลม ฐานใบ 2 ข้างไม่เท่ากัน มีหนามแหลมแข็งอยู่บนเส้นใบ ใบยาว 15-25 เซนติเมตร กว้าง 10-25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 5-7 เซนติเมตร ดอกมะอึกออกเป็นช่อมีดอกย่อย 3-5 ดอก ออกเป็นกระจุกตามบริเวณซอกใบ มีกลีบดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน 5 กลีบ โคนติดกัน แต่ละกลีบมีขนาดเล็ก ปลายกลีบแหลม เมื่อกลีบบานจะโค้งลง ผลมะอึกสีเขียวเมื่ออ่อน มีขนยาวปกคลุมทั่วทั้งผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่สุกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม มีเมล็ดเรียงเป็นแถวอยู่ภายใน เป็นเมล็ดกลมเล็กเป็นจำนวนมาก

ส่วนใหญ่จะพบขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ บริเวณป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ป่าทุ่ง สวน และริมทาง มีการนำไปปลูกในสวนหลังบ้าน ปลูกต้นเดียว กินลูกไม่หมด มะอึกติดลูกเยอะมาก เมื่อออกลูกก็จะออกพร้อมกันทั้งต้น มีระยะออกลูกต่อเนื่องกัน ทำให้สุกแก่พร้อมกัน และทยอยสุกแก่ในเวลาไล่เลี่ยกัน เก็บกินไม่ทัน แบ่งปันก็แล้ว เลยต้องทิ้งให้หล่น ร่วง เน่า ออกต้นใหม่ บางต้นเจ้าของจำต้องฟันทิ้ง แม้จะเสียดายอยู่บ้าง ก็จำทนตัดทิ้งไปเพื่อจะได้ไม่รกตา ที่เห็นต้นโทรมๆ สิ่งมีชีวิตที่ออกลูกดกมาก โทรมไวอย่างนั้นแหละ

พูดถึงผลมะอึก ชวนให้นึกถึงสีสัน เวลาเด็ดมาทั้งช่อพวง เมื่อตอนเป็นผลอ่อนๆ สีเขียว มีขนยาวหุ้มเต็มผล เมื่อแก่จนงอมเป็นสีเหลืองส้ม ขนสีขาวก็คลุมทั่วผลอย่างนั้น ถ้าต้นไหนเด็ดกินไม่ทัน ก็ฟันทิ้งทั้งกิ่ง ต้น ผลแก่ โยนทิ้งให้นก หนู ไก่ จิกกิน คุ้ยเขี่ยกระเด็นไปตกที่เหมาะสม ก็งอกเป็นต้นใหม่ แต่น่าสังเกตว่า ต้นมะอึกมักจะไม่ค่อยขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มักเป็นต้นเดี่ยวๆ หรืออย่างเก่งก็ 2 ต้น ที่ขึ้นติดกัน หรือว่ามะอึกเป็นไม้ที่ชอบสันโดษ ชอบอยู่โดดเดี่ยว เหมือน “คุณปู่” ที่ยายเขาไปก่อน หรือเป็นที่มาชื่อ “มะเขือปู่”

ขนยาวๆ สีขาวนวลของมะอึกมีประโยชน์ ชาวบ้านเมื่อก่อนเขาขูดเอาขนมะอึก ตีใส่ไข่ทอดให้เด็กกิน เพื่อขับถ่ายพยาธิ นิยมใช้ผลมะอึกซึ่งมีรสเปรี้ยว เป็นผัก และเครื่องปรุงรสอาหาร ผลแก่หรือผลสุกกินสดได้ หรือปรุงน้ำพริก ใส่แกงส้ม ใส่ส้มตำ ใส่แกงเนื้อ แกงปลาย่างได้ โดยเฉพาะตำน้ำพริกกะปิ เอามะอึกผลแก่สุก ขัดเอาขนออก ฝานเป็นแผ่นบางๆ โขลกใส่น้ำพริกกะปิ เพิ่มรสชาติความอร่อย ทดแทนความเปรี้ยวได้ ได้เนื้อได้เมล็ดแทนมะเขือพวง ได้สีสันที่น่ากิน เพิ่มความอร่อยเป็นอร่อยกว่า

สรรพคุณทางยา รากต้นมะอึก มีรสเย็น เปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาแก้โรคดีฝ่อ ดีกระดูก ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว กัดฟอกเสมหะ กระทุ้งพิษ ดับพิษร้อนภายในร่างกาย ผลมะอึกมีรสเย็น เปรี้ยวอมขื่นเล็กน้อย ผลสุกเปรี้ยวมาก มีสรรพคุณแก้สะดุ้งผวา ดีฝ่อ ผลมะอึก 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 53 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 3.6 กรัม แคลเซียม 29 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม ไนอะซิน 4.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 3 มิลลิกรัม

ช่วงปลายของฤดูฝน ต้นมะอึกจะให้ลูกให้ผลมากมาย และต้นตาย เคยทดลองต่ออายุต้นมะอึก โดยการทำสาว ตั้งแต่ให้ผลรุ่นแรก เหลือช่อดอกไว้บ้างบางกิ่ง ก็ได้ยืดอายุการให้ผลยาวถึงหนาวได้อีกหน่อย เป็นธรรมดาของไม้ล้มลุก แต่ในบรรดาไม้ล้มลุกที่ทำสาวตัดแต่งกิ่ง ให้ผลได้ระยะยาวหลายเดือนถึงเป็นปี เคยทำแล้วเห็นผล ก็พวกวงศ์มะเขือนี่แหละ คือมะเขือกรอบพันธุ์เจ้าพระยา ส่วนมะเขือปู่ มะอึก หมากอึก ไม่ยอมยืนยืดอายุ ไปก่อนละนะคุณปู่ หัวมะอึก