กูรูแนะแก้ปัญหาลำไยล้นตลาด โดยวางแผนปลูกหลายรุ่น ปลุกพันธุ์หลากหลายยิ่งขึ้น

ปัญหาเรื่องการผลิตและซื้อขายลำไย ถือเป็นปัญหาที่เกษตรกรชาวไทยแทบทุกรายต้องเคยประสบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคา คุณภาพ รวมไปถึงเรื่องของตลาดและการส่งออกด้วย อย่างที่ทราบดีว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการปลูกและส่งออกลำไยเป็นลำดับที่ 2 รองจากประเทศจีน ที่มีพื้นที่การเพาะปลูกกว่า 2.7 ล้านไร่ แต่ถึงอย่างนั้นเกษตรกรก็ยังคงต้องรับมือกับปัญหาดังกล่าวแทบทุกปี

ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้กล่าวว่า ปัญหาเรื่องลำไยนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องราคา คุณภาพ หรือการส่งออกเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรผลิตลำไยในระยะเวลาเดียวกัน ทำให้ผลผลิตที่ได้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งยังมีส่วนทำให้ต้องขายผลผลิตในราคาที่ต่ำอีกด้วย

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตัวเกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรฯควรเริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิต และเพิ่มในส่วนของศูนย์ข้อมูลกลางด้วย เพื่อให้สามารถกำหนดได้ว่าควรให้เกษตรกรแต่ละรายเริ่มปลูกลำไยในช่วงไหน และจะมีผลผลิตออกมาในช่วงใด เพื่อนำมาใช้ในวางแผนส่วนของการส่งออกผลผลิตต่อไป

แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯจะเข้ามาช่วยวางแผนในการผลิตลำไยก็จริง แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องวางแผนการปลูกเพื่อบริหารความเสี่ยงของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงนั้นก็มีทั้งเรื่องของอากาศที่ไม่แน่นอน รวมไปถึงเรื่องการตลาดและการจัดการแรงงานด้วย โดยต้องปรับจากการปลูกลำไย 1 รุ่นพร้อมกัน ไปเป็นการปลูกลำไยอย่างน้อย 2-3 รุ่น เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ผศ.พาวิน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาเรื่องความไม่หลากหลายของสายพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญเช่นกัน เพราะการปลูกส่งออก เกษตรกรจะเน้นการปลูกลำไยสายพันธุ์อีดอเพียงอย่างเดียว เพราะมีสีที่สวยกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ในเรื่องของรสชาตินั้นพันธุ์สีชมพู เบี้ยวเขียว และพวงทอง จะมีรสชาติที่หวานและกรอบต่างจากพันธุ์อีดอที่จะเหนียวกว่าเล็กน้อย  ทำให้ตอนนี้เกษตรกรหลายรายได้เริ่มหันมาปลูกลำไยทั้ง 3 สายพันธุ์นี้เพิ่มมากขึ้น

“พันธุ์สีชมพู เบี้ยวเขียว และพวงทอง เป็นลำไยรสชาติดีมาก ทางประเทศจีนสนใจ แต่ไม่มีผลผลิตจำหน่าย เพราะเกษตรกรเน้นไปที่พันธุ์อีดอ” ผศ.พาวินกล่าว

อย่างไรก็ตามผศ.พาวิน ยังเชื่ออีกว่าหากสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่ได้วางเอาไว้ จะช่วยลดและแก้ปัญหาต่างๆในการผลิตและส่งออกลำไยของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน