“เลียงผาเขาหินปูน”เสี่ยงสูญพันธุ์ แฉเพื่อนบ้านรับซื้อตัวละแสน ควายป่า สมเสร็จ อาการหนักไม่แพ้กัน

วันคุ้มครองสัตว์ป่า 60 เผยสถานการณ์“เลียงผา”สัตว์สงวนของไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ เหตุสัมปทานโรงงานปูนฯทับถิ่นอาศัย “บิ๊กเต่า”สั่งตั้งกก.พิจารณาให้สัมปทาน เล็งผนวกป่าเขาหินปูนในจ.สระบุรี-ลพบุรีเป็นเขตห้ามล่าฯ ระบุเพื่อนบ้านซื้อขายตัวละแสน ถูกคุกคามหนักล่าง่ายคนไทยยังเชื่อน้ำมันเลียงผารักษาโรค ขณะที่ “ช้างป่า-กระทิง-วัวแดง-ควายป่า-กวางผา-สมเสร็จ”น่าห่วงไม่แพ้กัน

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาสัตว์ป่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นนอกเขตป่าอนุรักษ์ด้วย โดยเฉพาะช้างป่า และกระทิงที่ออกมาหากินนอกเขตป่าและกระทบกระทั่งกับชุมชนรอบป่า ซึ่งปัจจัยหลักอย่างหนึ่งคือแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือการรุกรานของพืชต่างถิ่นในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น กระถินยักษ์ ที่เขามาทดแทนทุ่งหญ้าที่เป็นอาหารของช้างและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ก็ได้มีการสร้างแหล่งอาหารเพิ่มในหลายพื้นที่ และต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป

 

นายธัญญา กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่าที่น่าเป็นห่วงคือเลียงผาที่เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ซึ่งเลียงผาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขาหินปูน และได้รับผลกระทบจากสภาพพื้นที่แหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจึงออกมาหากินนอกเขตป่าและอาจได้รับอันตรายมากขึ้น ขณะนี้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ อยู่ระหว่างการหารือถึงการผนวกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเลียงผาเพิ่ม โดยพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีนายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมเป็นตัวแทนในคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าจะมีแนวทางในการผนวกพื้นที่ป่าอย่างไร ในส่วนของกรมอุทยานฯ มีความพร้อมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ที่จะพูดคุยและทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบและต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าไม่มีการคัดค้านเรื่องนี้ และเห็นด้วยว่าควรมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่ม

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่รัฐได้ให้สัมปทานกับโรงงานปูนซีเมนต์หลายแห่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่รัฐมนตรีทส. ได้ตั้งขึ้นมาจะไปหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีการให้สัมปทานมากเกินความจำเป็นในการผลิต โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะพิจารณาว่าควรจำกัดการให้สัมปทานไว้ที่เท่าไร อย่างไรก็ตามเวลานี้โรงงานปูนซีเมนต์หลายแห่งก็ได้มีส่วนร่วมในการดูแลเลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าสำคัญในพื้นที่ โดยในเดือน มกราคม นี้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจะมอบทุนสนับสนุนให้กรมอุทยานฯ ในการดูแลบ้านของเลียงผา ซึ่งกรมก็ต้องขอขอบคุณ แต่สิ่งสำคัญคือจิตสำนึกของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันดูแลสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป

ด้านนายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวว่า คาดว่าพื้นที่ป่าเขาหินปูนที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและคาบเกี่ยวป่าอนุรักษ์บางส่วน ในเขต จ.สระบุรี เชื่อมต่อ จ.นครราชสีมา และลพบุรี มีเลียงผาอาศัยอยู่ 200 ตัว น่าจะมากกว่าในพื้นที่อื่นของประเทศ ปัจจัยคุกคามของเลียงผาในพื้นที่ขณะนี้คือการขาดแคลนน้ำและแหล่งอาหาร ทำให้เลียงผาต้องออกมาหากินในชุมชนรอบป่าทำให้ถูกล่าและทำร้ายได้ง่าย แม้ชาวบ้านจะมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลเลียงผามากขึ้น แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ โดยเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเลียงผาถูกหมากัดตาย และทราบว่าในประเทศเพื่อนบ้านนิยมบริโภคเลียงผาอย่างมากราคาตัวละ 1 แสนบาท แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าล่าจากไทยหรือไม่ ขณะที่ในไทยเองก็ยังมีความเชื่อในเรื่องน้ำมันเลียงผาที่ใช้แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก จึงยังมีการลักลอบล่าอยู่ ที่ผ่านมาได้มีการทำเรื่องเสนอผนวกพื้นที่ป่าสงวนฯ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแล้ว โดยผนวกเพิ่มกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จ.สระบุรี ทั้งนี้ป่าเขาหินปูนที่เป็นแหล่งอาศัยของเลียงผาในพื้นที่ จ.สระบุรีเชื่อมต่อลพบุรีมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 5 หมื่นไร่ และมีบางส่วนเป็นพื้นที่สัมปทานโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งจะมีการหารือเพื่อดำเนินการโครงการบ้านของเลียงผาต่อไป

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน กล่าวว่า เลียงผาหรือม้าเทวดาเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่ถูกคุกคามมากที่สุดในปัจจุบัน โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 7 ชนิดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง ควายป่า กวางผา เลียงผา และสมเสร็จ ทั้งนี้เลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าที่ถูกล่าค่อนข้างง่ายเพราะอยู่ในระบบนิเวศที่เป็นเขาหินปูน การใช้ชีวิตต้องระมัดระวังเพราะสภาพป่าโปร่ง เมื่อนายพรานออกล่าจะไปดูรอยว่าตรงไหนเป็นกองมูลของเลียงผา เพราะเลียงผาจะกลับมาถ่ายมูลในที่เดิมเสมอ ถ้าพบกองมูลก็ไปดักรอได้เลย ปัจจัยคุกคามมากที่สุดคือความเชื่อในเรื่องน้ำมันเลียงผาที่ใช้รักษากระดูกและกล้ามเนื้อบาดเจ็บ ตนได้พิสูจน์แล้วว่าน้ำมันเลียงผาที่ขายในท้องตลาดนั้น ประกอบไปด้วยน้ำมันมะพร้าวและว่านไพลที่เมื่อถูนวดแล้วจะเกิดความร้อนจึงบรรเทาอาการปวดได้ หัวหรือตัวเลียงผา เป็นของที่เอามาอ้างเท่านั้น ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยอะไรเลย และเป็นการตลาดบนความเชื่อที่ทำลายชีวิตสัตว์ป่า

น.สพ.ภัทรพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้งเราจะพบเลียงผานอนหายใจรวยริน เพราะขาดแหล่งน้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปหน้าแล้งยาวนานขึ้น และเขาหินปูนเก็บน้ำได้น้อย ซึ่งปกติเลียงผาจะดื่มน้ำที่อยู่ในซอกเขาหินปูน โดยก้มเลียขาเพื่อกินน้ำที่ติดอยู่กับขน ทำให้คนเข้าใจว่าเลียเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บหรือเป็นแผล จึงมีความเชื่อในเรื่องสรรพคุณของน้ำมันเลียงผา ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมจิตอาสาแบกน้ำขึ้นไปทำแหล่งน้ำไว้บนเขาที่เป็นแหล่งที่อยู่ของเลียงผาที่เขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี และติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้ ซึ่งก็พบว่าเลียงผาได้มาอาศัยกินน้ำในแหล่งน้ำนี้ บางคนคิดว่าเลียงผายังมีจำนวนมาก แต่ตนคิดว่าไม่มากเพราะความเสี่ยงต่อการถูกล่าและสูญพันธุ์มีมากกว่า

 

ที่มา : มติชนออนไลน์