หลงรักทวาย (ตอนที่ 1)

ไปทวายกี่ครั้งแล้ว มักจะมีคนถามแบบนี้บ่อยครั้ง แล้วฉันก็จะไล่นิ้วนับ…ครั้งแรกไปกับทีมนักข่าวชายขอบบินไปจากย่างกุ้ง เครื่องบินแวะรับส่งคนที่มะริดก่อนราวกับนั่งรถทัวร์ ครั้งต่อมาไปงานกฐินของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมจัดร่วมกับเสมสิกขาลัย ครั้งที่สามไปกับกลุ่มช่างภาพ จัดโดย เสมสิกขาลัย ครั้งที่สี่ร่วมกับเสมสิกขาลัยอีกนั่นแหละ แต่เป็นงานโครงการศิลปะชุมชนร่วมจัด นำศิลปินไปสร้างงานศิลปะและปฏิบัติการศิลปะกับเยาวชนที่บ้านกาโลนท่า 

และสืบเนื่องจากโครงการศิลปะชุมชนที่ทวายครั้งนั้น กลายมาเป็นงานหลงรักทวายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร [bacc] งานประสบผลเป็นอย่างงาม ผู้คนมาร่วมอบอุ่นคับคั่ง งานหลงรักทวายครั้งที่สองจึงมีขึ้นที่เมืองทวาย ซึ่งทำให้ฉันได้เดินทางมาทวายเป็นครั้งที่ห้า…

1. ชาวบ้านเมียวพิว ชี้ให้ดูพื้นที่ทำเหมือง

ระยะทางจากด่านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี ถึงตัวเมืองทวายราวๆ 130 กิโลเมตร แต่ด้วยเส้นทางดินแดงไต่ขึ้นลงภูเขา   ประกอบกับช่วงหลังฝนไม่นาน ทำให้ถนนเต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ รถตู้ต้องแล่นโขยกเขยกระมัดระวังไปช้าๆ   จนกินเวลาถึง 8 ชั่วโมง กว่าจะถึงที่หมาย แว่วว่าบางคนถึงแก่กระอักกระอ่วนจนแทบคายอาหารเก่าในกระเพาะออกมา กระนั้นด้วยการเดินทางที่มีแต่คนใจเดียวกัน เราจึงผ่านไปได้อย่างสนุกสุขสม แม้บางคนจะอิดโรยไปบ้างก็ตาม

เห็นความเปลี่ยนแปลงของทวายมาตั้งแต่ครั้งที่สองที่ได้มาเยือน ที่พักเดิมซึ่งเคยเป็นเรือนหลังใหญ่ มีระเบียงให้นั่งเล่นดื่มกินสนทนา ปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมตึกหลายชั้นราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว รถบนถนนจอแจหนาตาขึ้นโดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ขณะที่เสียงกรุบกรับของเกือกม้าที่แล่นรับส่งผู้โดยสารเบาบางลง กระนั้นทวายก็ยังยวนเสน่ห์ด้วยวิถีชีวิตที่ไม่เร่งร้อน และอาคารบ้านเรือนแบบเดิมที่ยังคงมีให้เห็นสองฝั่งถนนหนทาง

พวกเรามาถึงก่อนงานหลงรักทวาย เพื่อจะได้มีเวลาสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนและทำงานศิลปะตามถนัด แห่งแรกที่เราได้ไปคือ หมู่บ้านเมียวพิว ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เราได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้แล้วว่าชาวบ้านที่นี่ต้องใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก เพราะแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้มาแต่สมัยดั้งเดิมนั้นได้เหือดหายไปทั้งสาย บ่อน้ำที่มีอยู่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อนจนไม่สามารถนำมาใช้สอยได้ แรกที่ได้ฟังข้อมูลฉันยังนึกภาพไม่ออกว่าสภาพแม่น้ำที่แห้งไปทั้งสายนั้นเป็นเช่นไร ต่อเมื่อได้มายืนอยู่บนสะพานที่ชาวบ้านเมียวพิวเคยใช้ข้ามไปมาก็ให้สะท้อนใจ ด้วยว่าสิ่งที่ปรากฏในสายตาหาใช่สายน้ำใสไหลเย็น ทว่ากลับมีแต่ดินแห้งโหย

ยืนอยู่กลางแม่น้ำ กับคำถาม “แม่น้ำหายไปไหน”

แม่น้ำทั้งสายหายไป ฉันนึกถึงคำถามของปลาที่คงจะดิ้นพล่านตะเกียกตะกาย ไม่มีน้ำ ปลาจะอยู่ได้อย่างไร ลมหายใจผะแผ่วกับคำถามก่อนตาย…แม่น้ำหายไปไหน

เหมืองเฮงดามีมาตั้งแต่ครั้งอาณานิคม ตามข้อมูลที่ปรากฏระบุว่า ครั้งกระนั้นยังไม่ปรากฏผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เห็นอย่างรุนแรง กระทั่งมีบริษัทเข้ามารับช่วงการทำเหมืองดีบุกเฮงดา ในปี พ.ศ. 2542 จึงเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คน โดยเฉพาะชาวบ้านหมู่บ้านเมียวพิวได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาที่สุด ในช่วงฤดูฝนกรวด หิน ดิน ทราย กากแร่ และสารพิษต่างๆ ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

สะพานข้ามแม่น้ำที่กลายเป็นอดีต

จนไม่สามารถนำมาใช้สอยได้ กระทั่งน้ำบ่อในบ้านที่ขุดไว้ใช้สอยก็กลายเป็นสีสนิม

บ้านเรือนใต้ถุนสูงก็ถูกตะกอนดินที่ไหลลงมาทับถมจนเสาเรือนหดสั้นแทบจะกลายเป็นบ้านชั้นเดียว หรือแม้แต่เจดีย์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาบนเนินสูง ยังกลับกลายเป็นเจดีย์เตี้ยติดพื้น ซุ้มประตูถูกดินถมทับจนชาวบ้านต้องช่วยกันขุดย้ายขึ้นมาวางไว้อีกที่ ทุกสิ่งอย่างของบ้านเมียวพิวผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างน่าเศร้าใจ

ทุ่งนาและต้นตาล ริมทางถนนต้นตาล

กระบวนการทำเหมืองแบบฉีดต้องใช้น้ำจำนวนมาก ประกอบกับตะกอนที่ไหลลงแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน นานวันเข้าสายน้ำก็เหือดแห้ง ทิ้งไว้เพียงร่องน้ำ เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเรื่องที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นการกระทำที่เกิดจากความละโมบโลภคลั่ง เห็นแก่ผลประโยชน์ตัวเองอย่างไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง

พวกเราล่ำลาชาวบ้านด้วยหัวใจที่ถ่วงหนัก ที่น่าเจ็บปวดก็ตรงที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าให้กำลังใจกัน ซึ่งไม่ต่างกับหลายๆ พื้นที่ ที่ได้ไปเยือน เราจากมาอย่างทำอะไรไม่ได้มาก

จากหมู่บ้านเมียวพิว มีเวลาเหลือพอจึงได้แวะถนนที่เราเรียกกันว่า “ถนนสายต้นตาล” ครั้งแรกที่ฉันมาทวายคนนำทางก็พามาหย่อนใจที่ถนนสายนี้ ถนนสายเล็กๆ ที่สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้นตาล แน่ละว่าหลายจังหวัดที่บ้านเมืองเราก็มีต้นตาล แต่ที่นี่ออกจะพิเศษตรงที่ทิวตาลสองฝั่งนั้นมีเพิงขายน้ำตาลเมาและลูกตาลสดที่ปาดกินกันสดๆ

ตอนที่ได้มาทวายครั้งที่สองมีข่าวว่าทางการห้ามขายน้ำตาลเมา ถ้าจะขายต้องมีใบอนุญาตและเสียภาษี เป็นเหตุให้คนทำน้ำตาลเมาต้องแอบขาย เพราะไม่คุ้มกับการต้องจ่ายภาษี จำได้ว่ามาทวายอีกครั้งนั้นเราต้องแอบซื้อน้ำตาลเมามากินกันพอหายอยาก กลับมาครั้งนี้ทางการยกเลิกคำสั่ง เพิงขายน้ำตาลเมาริมทางใต้ต้นตาลจึงเปิดขึ้นอีกครั้งอย่างคึกคักสนุกสนาน

นอกจากเครื่องดื่มจากต้นตาล ยังมีกับแกล้มที่กินกันอย่างเพลินปาก ทั้งปลาย่าง ยำใบชา ถั่วมันๆ ถนนต้นตาลเป็นเส้นทางหย่อนใจง่ายๆ ราคาไม่แพงของชาวทวาย และเป็นที่คลายใจของพวกเราที่เคร่งเครียดกลับมาจากเรื่องราวของเหมืองแร่ดีบุกกับชาวบ้านเมียวพิว จนอยากร้องเป็นเพลงออกมาว่า…ภูเขาเลื่อนไหลลงมากลบถมแม่น้ำ ฝูงปลาถามว่า แม่น้ำหายไปไหน…