เผยแพร่ |
---|
การยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการเร่งจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่คนกรีดยางในพื้นที่สวนยางของ กยท. แล้ว หลังเริ่มมาตรการหยุดกรีดยางในสวนยางของรัฐในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามเป้าหมายโครงการควบคุมปริมาณผลผลิตของรัฐบาล
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า จากมาตรการหยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐบาล 3 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนประมาณ 100,000 ไร่ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นอีกแนวทางเพื่อลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด ช่วยกระตุ้นให้มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น และจะทำให้ราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ กยท. เดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในโครงการควบคุมปริมาณผลผลิต โดยหยุดกรีดยางในสวนยางของ กยท. ซึ่งมีพื้นที่อยู่ทั่วประเทศที่ ประมาณ 28,000 ไร่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันออก รวมถึง ภาคใต้ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง
“ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้างกรีดยาง และลูกจ้างสำรองกรีดของ กยท. จำนวน 1,075 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้เสียโอกาสในการหยุดกรีดยางตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากปกติ กยท.จะมีการจ้างกรีดยาง ปีละ 11 เดือน ยกเว้นเดือน มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงปิดกรีดยางของ กยท. ดังนั้น กยท. จึงจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรีดยาง ในส่วนของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2561 โดยเห็นชอบให้ใช้เงินตามมาตรา 49 (1) เพื่อชดเชยรายได้ รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 28.8 ล้านบาท”
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจ่ายเงินค่าจ้างชดเชยการหยุดกรีดยางให้แก่ลูกจ้างกรีดยางของ กยท. ในเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 กำหนดให้จ่ายเป็นงวดตามช่วงเวลา โดยค่าจ้างชดเชยของวันที่ 1-15 จะจ่ายในวันที่ 21-23 ของเดือนนั้น ส่วนค่าจ้างชดเชยของวันที่ 16-31 จะจ่ายในวันที่ 7-9 ของเดือนถัดไป ซึ่ง กยท. ได้เริ่มเบิกจ่ายและโอนเงินค่าจ้างชดเชยงวดวันที่ 1-15 มกราคม ให้แก่ลูกจ้างกรีดยางในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว