ผู้เขียน | วัชรินทร์ เขจรวงศ์/รายงาน |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเร็วๆนี้ นายประเกียรติ นาสิมมา นายกสมาคมการค้าข้าวหอมมะลิไทย(สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทุ่งกุลาร้องไห้) ประชุมการขับเคลื่อน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ นายวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ มอบหมายให้นางอิสราภรณ์ ทองเพียง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เป็นฝ่ายเลขาบันทึกรายงานการประชุม โดยคณะกรรมการภาครัฐ-ภาคเอกชน ดำเนินการตามยุทธศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด ที่นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เดินหน้าในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องได้ อำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย พื้นที่ 9.7 แสนไร่ และอีก 4 จังหวัดคือ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ และ จังหวัดมหาสาราม รวมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งหมด 2.1 ล้านไร่ เป็นการเดินหน้าประเทศไทย อีกหนึ่งภารกิจ คือการพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิที่หอมพิเศษ GI สามารถขับเคลื่อนศักยภาพข้าวหอมมะลิได้ ทั้งด้าน คุณภาพ ราคา สร้างความเชื่อมั่นข้าวหอมมะลิจากท้องทุ่งกุลาร้องไห้
นายประเกียรติ นาสิมมา กล่าวว่า พื้นที่ทุ่งกุลาร้องเป็นดินแดนลักษณะพิเศษ เป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ข้าวหอมมะลิทุกต้นที่เกิดขึ้นที่นี่ จะหอมพิเศษ เรียวยาวขาวนุ่ม หากปลูกในพื้นที่อื่น จะเป็นข้าวขาวธรรมดาทั่วไป เพราะความเค็มของดินส่าเกลือ ความแห้งแล้ง ข้าวเกิดความเครียด หลั่งสารความหอมคล้ายๆใบเตย ขาวเหมือนดอกมะลิ จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ การขับเคลื่อน GI ทุ่งกุลาฯสมาคมการค้าข้าวหอมมะลิไทย(สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทุ่งกุลาร้องไห้) เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการตรวจสอบและรับรองสมาชิก ให้ได้รับตรา GI ประทับบนสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ผู้เดียว ตามเลขทะเบียนที่ 50100022 โดยที่รัฐบาลมีนโยบายให้นำเครื่องหมาย GI มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ สินค้า ในเขตพื้นที่ GI ของประเทศไทย ในช่วงนี้นั้น สมาคม จึงต้องมีพันธกิจเข้าไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว ดังต่อไปนี้คือ
1.ดำเนินการ “ให้เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกสมาคมมีรายได้เพิ่มขึ้น” อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยการยกระดับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ GI ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ตามที่สมาคมรับผิดชอบ
2.ดำเนินการ “ให้การคุ้มครองผู้บริโภค” โดยการกำกับ ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการผลิตข้าวหอมมะลิ ตามหลักวิชาการ ตรวจสอบกระบวนการการผลิตทุกขั้นตอน ให้ได้คุณภาพ และความหอมตามธรรมชาติ จนนำไปสู่การได้รับตรา GI
3.ดำเนินการ “ให้การตลาดข้าวหอมมะลิ GIไทย ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน” โดยการแสวงหาทุนเข้ารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เกษตรกร ที่ได้รับรองตามกระบวนการที่ระบุใน พันธกิจที่ 1 และ2 และต้องขับเคลื่อนให้มีการปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิ GI เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณภาพ ตลอดจนการแปรรูปจำหน่วยถึงผู้บริโภค ให้พิสูจน์ย้อนกลับได้
นายประเกียรติ กล่าวว่า พันธกิจทั้ง 3 พันธกิจของสมาคมฯ จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างบริบูรณ์ ต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งสมาคม วางกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้เป็น 3 ช่วงดังนี้ ก.ระยะเร่งด่วน ทำการจัดให้มีทุนรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ GI ในราคาตันละ 15,000.-บาท บวกราคานำตลาดอีก 1,500.-บาทต่อตัน รวมเป็นราคาตันละ 16,500.-บาทโดยมีเป้าหมายนำร่องไว้จำนวน 60,000-100,000 ตันในต้นฤดูการผลิต 2561/2562 เป็นต้นไป
ข.ระยะปานกลาง ทำการขยายการรับซื้อในราคาตามที่ตั้งไว้หรือเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างทั่วถึงทั้งหมดในเขต GI ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อทำการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิ GI เพื่อรองรับงานการขับเคลื่อนของสมาคมอย่างทั่วถึงทั้งทุงกุลาร้องไห้ แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ฤดูการผลิต 2562 เป็นต้นไปให้ครบตามความต้องการ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
ค.ระยะยาว จัดให้มีการตรวจระดับ การดำเนินการ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตามความจำเป็น เพื่อรักษาความมั่นคง ความก้าวหน้า ตามพันธกิจของสมาคม โดยใช้ KPI เป็นตัววัดผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืน ตามโครงการนี้ตลอดไป