เพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบ

นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและหรือบริการด้วย “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” อันจะนำมาซึ่งผลิตภาพ (ทำน้อยได้มาก) และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกหมู่เหล่า (ลดความเหลื่อมล้ำ) พร้อมๆ กับการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับสากล

ดังนั้น “การออกแบบ” จึงมีความสำคัญไม่น้อย สำหรับ “ประเทศไทย 4.0” โดยเฉพาะการออกแบบโรดแมป (Road Map) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมาย

โลกทุกวันนี้มีการแข่งขันกันที่รุนแรงมากขึ้นทุกที ดูได้จากการที่มีการแข่งขันกันผลิตสินค้าและบริการออกมาเสนอขายผู้บริโภคจนนับไม่ถ้วน แต่ผู้ผลิตรายใดจะอยู่รอดในระยะยาวและสามารถผูกมัดใจผู้บริโภคให้ติดใจกลายเป็น “ลูกค้าประจำ” ตลอดไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในตลาดแข่งขันได้อย่างเสรีเช่นนี้ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมาย ก็ย่อมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ องค์กรต่างๆ และเจ้าของสินค้าหรือบริการจึงต้องทิ้งความคิดแบบเดิมๆ ในการผลิตหรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หรือให้บริการ ผู้บริหารจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ และคิดออกนอกกรอบเดิมให้ได้ เพื่อให้ได้ “ของใหม่” หรือ “นวัตกรรม” ที่ดีเลิศและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยความแปลกใหม่ได้แล้ว ยังให้อะไรเกินกว่าที่ผู้บริโภคคาดหวังด้วย แบบที่ต้องร้อง “ว้าว” เพราะคาดไม่ถึงเลย

ทุกวันนี้ ผู้บริหารของธุรกิจระดับโลกที่มีสินค้าและบริการสามารถเอาชนะใจลูกค้าหรือผู้บริโภคได้อย่างยาวนาน ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับ “การคิดเชิงออกแบบ” ทั้งนั้น โดยแต่ละปีองค์กรเหล่านั้นยอมลงทุนด้วยเงินก้อนโตเพื่อการออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ว่าไปแล้ว ความคิดเชิงออกแบบไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ที่เรียนด้านการออกแบบ หรือจบสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ทุกคนไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรืออาชีพอะไร ก็สามารถมีความคิดในเชิงออกแบบหรือจินตนาการสร้างสรรค์ได้

แต่จุดที่สำคัญอยู่ที่ ผู้บริหารองค์กรจะต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเปิดโอกาสให้พนักงานในทุกแผนกขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ฝ่ายผลิต วิศวกร เป็นต้น สามารถนำเอาศักยภาพด้านความคิดเชิงออกแบบของพวกเขาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ดังนั้น การออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งการพัฒนาองค์กร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าหรือบริการ จึงนำไปสู่ “ความอยู่รอดในระยะยาว” ครับผม !

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก วิฑูรย์ สิมะโชคดี