หวั่นสูญพันธุ์-วิจัยเพาะปลาดุกลูกครึ่ง ชื่อ “บิ๊กลำพัน” ผสมไทย-เทศ

สงขลา – ผศ.ณิศา มาชู อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรให้กับผลงานวิจัย “การประดิษฐ์กรรมวิธีเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมระหว่างปลาดุกลำพันและปลาดุกเทศ” ซึ่งผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่ปลาดุกลำพันกับพ่อปลาดุกเทศ เป็นปลาดุกชนิดใหม่ที่ตนให้ชื่อว่า “ปลาดุกบิ๊กลำพัน” เนื่องจากปลาดุกลำพันในธรรมชาติที่มีแหล่งอาศัยในป่าพรุมีน้อยลงมาก

จัดเป็นปลาหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปลาดุกลำพันเป็นปลาที่มีความอดทนสูง เลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพต่ำได้ จึงนำพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกลำพันมาเลี้ยงในน้ำจืดทั่วไป และนำมาเพาะขยายพันธุ์ให้อัตราการผสมติดและฟักเป็นตัว ร้อยละ 40-50

ลูกปลาดุกลำพันที่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า และเป็นปลาที่มีผิวหนังบางถลอกง่าย จึงปรับปรุงพันธุ์ด้วยการนำมาผสมข้ามพันธุ์กับปลาดุกเทศ ซึ่งเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว โดยนำปลาดุกลำพันเพศเมีย มาผสมพันธุ์กับปลาดุกเทศเพศผู้ ใช้การฉีดฮอร์โมนผสมเทียม พบว่ามีอัตราการผสมติดและอัตราการฟักเป็นตัวร้อยละ 30-40

เมื่อนำปลาดุกลูกผสมที่ได้มาอนุบาลเปรียบเทียบกับลูกปลาดุกลำพัน และลูกปลาดุกเทศ 8 สัปดาห์ พบว่าปลาดุกลูกผสมมีน้ำหนักและความยาวเฉลี่ยมากกว่าปลาดุกลำพัน แต่น้อยกว่าปลาดุกเทศ โดยที่ปลา 3 ชนิดมีอัตราการรอดตายไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ปลาดุกลูกผสมมีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวยาว มีลายสีขาวบนลำตัวในแนวขวางเหมือนแม่คือปลาดุกลำพัน สวยงามและน่าสนใจ และก็มีการเจริญเติบโตที่ดีคล้ายพ่อคือปลาดุกเทศ กินอาหารสำเร็จรูปได้ดี

“ปลาดุกบิ๊กลำพันมีโอกาสพัฒนาเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยรักษาพันธุ์ของปลาดุกลำพันไว้ในทางอ้อม”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561