รัฐบาลติดปีกสหกรณ์ เสริมความแข็งแกร่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

วิวัฒนาการของระบบสหกรณ์ในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2458 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลยุคนั้น เห็นสมควรที่นำวิธีการสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน ระบบเศรษฐกิจของชนบทได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อการค้า ทำให้ต้องการเงินทุนขยายการผลิตและครองชีพ จึงต้องไปกู้ยืมเงิน ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงและยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า สภาพปัญหาความยากจนของชาวนาในสมัยนั้น ทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือด้วยการจัดหาเงินทุน มาให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ

พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ในฐานะทรงเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติ ได้ทรงทดลองนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีหลักการร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซนที่ได้รับความสำเร็จมาแล้วในอินเดียและพม่า ต่อมาวิธีการสหกรณ์ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านได้และมีการขยายผลการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ต่าง  ๆ ทั่วประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ ” และในวันที่  26 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ เป็นโอกาสของวันครบรอบ 102 ปี สหกรณ์ไทย

การเติบโตของระบบสหกรณ์ในประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงบทบาทและศักยภาพของสหกรณ์ ที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี  ที่คาดหวังจะใช้กลไกของสหกรณ์นี้เป็นกำลังสำคัญของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยมอบนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อจะให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งเหล่านั้น ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพ สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนและส่งผ่านความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐบาลไปสู่ประชาชนผ่านกลไกของสหกรณ์

นั่นเพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรกว่า 8,100 แห่ง  สมาชิกรวม 12 ล้านครอบครัว สินทรัพย์สหกรณ์ทั้งประเทศมีมากถึง 2.7 ล้านล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลสหกรณ์ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งมีภารกิจหลักเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน  เดินหน้าในการพัฒนาสหกรณ์มีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้มอบนโยบายการทำงานในปี 2561 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสร้างสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร และอยากเห็นสหกรณ์เป็นกำลังของเกษตรกรที่แท้จริงในการพัฒนาและช่วยปฏิรูปภาคการเกษตรให้สำเร็จ  สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การผลักดันให้สหกรณ์นำระบบอีคอมเมิร์ชเข้ามาเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนเองไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ

Advertisement

ขณะเดียวกัน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องสหกรณ์เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง คำตอบในการพัฒนาภาคประชาชนอยู่ที่สหกรณ์ และจากนี้ไปสหกรณ์จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง  ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้เข้มแข็งไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้คุยกับผู้แทนสหกรณ์ต่าง ๆ ไว้ว่า ในวาระที่การสหกรณ์ก้าวเข้ามาสู่ 102 ปี จากนี้ไปข้างหน้ารัฐบาลจะหาทางยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ล่าสุดรัฐบาลกำลังคุยเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่เป็นกฎหมายใหญ่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสอดรับกับการพัฒนาระบบสหกรณ์มากขึ้น

“สหกรณ์ในปัจจุบันยังทำได้อีกเยอะ ขณะนี้รัฐบาลก็ส่งเสริมการทำงานของระบบสหกรณ์ และขณะนี้กำลัง คิดหาทางทำอย่างไรให้ยกระดับสหกรณ์ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์นี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว แต่จะเป็นการรวมกลุ่มเรื่องของเทคโนโลยีด้วย ยิ่งเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น  เช่น ฟินเทค เอทีเอ็ม อี-เพย์เม้นต์ ดังนั้น  จึงอยากให้สหกรณ์ยุคต่อไปใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาพัฒนาระบบการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกที่มาใช้บริการ เพื่อติดปีกให้สหกรณ์ยุคใหม่ เกิดความเข้มแข็งและสามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นอกเหนือไปจากด้านนโยบายที่จะนำมากำกับดูแลสหกรณ์แล้ว หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ยังเตรียมความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้ติดปีกสมดั่งที่ฝ่ายนโยบายตั้งความหวังเอาไว้ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในด้านการจัดหาตลาดเข้ามาสนับสนุนสินค้าการเกษตร

หัวเรือใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมที่จะระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ ในการเข้ามาช่วยสหกรณ์ให้ก้าวข้ามผ่านปีที่ 102 ไปได้อย่างราบรื่น ด้วยการสานพลังความร่วมมือในการจัดหาช่องทางการตลาดรองรับผลผลิตเพื่อสนับสนุนธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อเป็นการการันตีว่า เมื่อสหกรณ์ส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตสินค้าดี มีคุณภาพ  เมื่อสหกรณ์ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตหรือแปรรูปผลผลิตออกมาเป็นสินค้าแล้ว จะมีตลาดรองรับสินค้าของสหกรณ์อย่างชัดเจน สิ่งสำคัญคือ ต้องดำเนินการภายใต้หลักคิด “ตลาดนำการผลิต” นำข้อมูลรอบด้านมาใช้วางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาช่วยเสริมตรงจุดดังกล่าว ต้องมีเงื่อนไขด้วยว่าคงต้องสร้างสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่หลายพันแห่งให้แข็งแกร่งเสียก่อน โดยเฟ้นหาสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งมาเป็นต้นแบบในระยะแรก จากนั้นเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การผลิต ลดต้นทุน เรื่อยมายังกลางน้ำ คือ การควบคุมและการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้เทคโนโลยี จนมาถึงปลายน้ำ คือ การจัดหาตลาดรองรับ

สำหรับกลไกการดูแลสินค้าการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนั้น เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ผลที่ได้คือการสร้างคุณภาพสินค้าตั้งแต่กรบวนการแรก ก่อนนำมารวบรวมไว้ยังจุดเดียวกัน ซึ่งถ้าสหกรณ์สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี เกรดยอดเยี่ยม แน่นอนว่าต้องสินค้านั้นย่อมเป็นที่ต้องการ  ของตลาด ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวทางนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของไทยได้ทั้งระบบ ที่สำคัญกระทรวงพาณิชย์ ยังมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง  ๆ สามารถเชื่อมโยงในการ ขายสินค้ากับร้านค้าเหล่านี้ได้โดยตรง

เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พร้อมเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธ.ก.ส. ยอมรับว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำคอยสนับสนุนแก่สหกรณ์ที่ต้องการเงินทุนไปดำเนินกิจการ ทั้งการผลิต การรวบรวมสินค้า และการแปรรูปก่อนจัดจำหน่าย ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังเข้ามาร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบบัญชี ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะคิดโครงการเพื่อฝึกอบรมสหกรณ์ให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องของระบบการเงินด้วย

ขณะที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลและพัฒนาสหกรณ์  นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ได้พูดถึงการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลว่า ในระยะสั้นของการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ภาคการเกษตร ต้องทำองค์กรให้มีความพร้อมก่อน ทั้งด้านการบริหารงาน  การควบคุมภายใน การทำธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิก และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างธรรมาภิบาลของผู้บริหารสหกรณ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างสหกรณ์ขึ้นมาเป็นองค์กรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนต่าง  ๆ ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันยังต้องการเห็นสหกรณ์การเกษตร เป็นองค์กรที่พึ่งพิงตัวเองมากกว่ารอความช่วยเหลือ        จากภายนอก  สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องช่วยเกื้อหนุนสหกรณ์ขนาดเล็ก โดยให้สหกรณ์ขนาดเล็กทำหน้าที่ผลิต สหกรณ์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่หาตลาด เดินหน้าไปด้วยกัน และยกระดับให้เหมือน SMEs รวมถึงต้องการให้สหกรณ์ทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ และส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน .

ส่วนสหกรณ์นอกภาคเกษตร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน สิ่งสำคัญที่ต้องกู้กลับมาคือ “ภาพลักษณ์” เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักมองภาพสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในมุมของ การทุจริต เรื่องนี้จะต้องเร่งสร้างกระบวนการของสหกรณ์ใหม่ ชูตัวเองขึ้นมา โดยเฉพาะกรรมการสหกรณ์ต้องบริหารงานโดยยึดประโยชน์ของสมาชิกเป็นที่ตั้ง และร่วมกันวางเกณฑ์กติกาในการป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องให้รัฐมาคอยกำกับ เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารงานได้เหมาะสม เช่นเดียวกับการสร้างสวัสดิการต่างๆ ดูแลสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดภาระภาครัฐในการจัดสวัสดิการลงมาดูแลในแต่ละปีด้วย

“พิเชษฐ์” ทิ้งท้ายด้วยว่า  “การจะให้ภาครัฐไปช่วยเหลือเป็นรายคนเป็นไปไม่ได้เลย วันนี้ถ้าหากชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ รัฐบาลก็สามารถผ่านความช่วยเหลือผ่านทางสหกรณ์ไปยังสมาชิกก็คือประชาชนได้ ดังนั้น สหกรณ์จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชนแทนภาครัฐ การที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามาดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ช่วยกันเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อนำสหกรณ์ก้าวเข้าสู่ ยุคใหม่ เป็นองค์กรที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและดูแลสวัสดิการให้คนในสังคมไทย