เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายขุนไกร สุขสุมิตร นายอำเภอโพนสวรรค์ จ.นครพนมระดมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหารจาก มทบ.210 นครพนม ผู้นำชุมชนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาพายุฝนหลงฤดู เนื่องจากเป็นพื้นที่อำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักสุด มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ รวม 4 ตำบล 22 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายรวม 320 หลังคาเรือน พังเสียหายหนักสุดรวม 20 หลังคาเรือน โรงเรียนอีก 2 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดุแล เร่งซ่อมแซมช่วยเหลือเบื้องต้น
จากการตรวจสอบ นอกจากมีบ้านเรือนของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ยังพบว่าพืชเศรษฐกิจสวนยางพาราของเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่า มีสวนยางได้รับผลกระทบจากพายุฝนหลงฤดูกว่า 300 ไร่ มีต้นยางหักโค่น เสียหายมากกว่า 5,000 ต้น เกษตรกรเดือดร้อนกว่า 150 ราย ส่วนใหญ่เป็นต้นยางที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี และสามารถกรีดยางได้ทั้งหมด สร้างมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรสวนยางอย่างหนัก เนื่องจากต้องเจอวิกฤติราคายางตกต่ำ และยังมาเจอพายุฝนถล่มต้นยางเสียหายอีก
ด้านนายชุมพล แย้มวิจิตรจรรยา อายุ 51 ปี เกษตรอำเภอโพนสวรรค์ เปิดเผยว่า ภัยธรรมชาติครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมาก มาตั้งแต่ต้นปี ไม่เพียงฝนตกหนักยังมีลมแรง พื้นที่การเกษตรที่กระทบหนักสุดคือ สวนยางพารา สำรวจแล้วเสียหายกว่า 5,000 ต้น หักโค่นกลางลำต้นส่วนใหญ่ เพราะเป็นพายุหมุน และเป็นต้นที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ในระยะยาว ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือจะมีการช่วยเหลือดังนี้ สำหรับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก องค์การสวนยาง หากได้รับความเสียหาย 20 ต้นขึ้นไป รับ 3,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาพิจารณาช่วยเหลือในกรณีไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสวนยาง หรือหากไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งสอง จะได้รับการช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ แต่ต้องเป็นความเสียหายแบบสิ้นเชิง เป็นเงิน ประมาณ 1,690 บาท ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า อาจไม่คุ้มค่า แต่ทางราชการพยายามหาทางช่วยเหลือ ตามระเบียบหลักเกณฑ์ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
ด้านนางสาวพัชรินทร์ กฐินสมมิตร์ อายุ 31 ปี เกษตรกรชาวสวนยาง เปิดเผยว่า ยอมรับว่าพายุฝนครั้งนี้หนักมาก มาแค่ชั่วโมงเดียว ต้นยางพาราในสวนหักโค่นไปกว่า 1,000 ต้น เห็นแล้วน้ำตาแทบร่วง เพราะต้นยางอายุมากกว่า 10 ปี ทั้งหมด กำลังให้ผลผลิตทุกวัน และปลุกมามีต้นทุนดูแลสูง บวกกับช่วงนี้ราคายางพารายิ่งตกต่ำ ยิ่งมาเจอภัยธรรมชาติซ้ำเติมอีก ขาดทุนหนัก เสียหายมาก คิดเป็นเงินหลายแสนบาท เพราะต้นยางแต่ละต้นยังสามารถกรีดยางได้อีกหลายปี ถึงแม้ทางภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยา แต่ยืนยันว่าไม่คุ้มค่า เพราะมูลค่าความเสียหายสูง แต่ต้องทำใจเพราะเป็นภัยธรรมชาติ
ที่มา : มติชนออนไลน์