มิจฉาชีพ หวังตุ๋นผู้เลี้ยงปลากรายนครปฐม ดีที่นำญาติไปด้วย จึงรอดตัว

            ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากรายในจังหวัดนครปฐม ว่า หลังจากเรื่องฟาร์มเลี้ยงปลากรายของเขา ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์หลัง 631 วันที่ 15 กันยายน 2559 ได้มีบุคคลโทรศัพท์เพื่อติดต่อขอรับซื้อปลากราย โดยให้เกษตรกรรายนี้นำตัวอย่างปลากรายที่เลี้ยงภายในบ่อไปดูขนาด เพื่อตรวจดูคุณภาพปลา โดยให้ไปพบที่ตลาดบางแค กรุงเทพฯ เมื่อได้นัดหมายวันเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจึงได้จัดเตรียมปลากรายสำหรับเป็นตัวอย่างขึ้นรถกระบะ พร้อมทั้งชวนญาติไปด้วยอีก 3 คน เพื่อเป็นเพื่อนกันในระหว่างเดินทางครั้งนี้

เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากรายถึงที่นัดหมาย บุคคลดังกล่าวแสดงพฤติกรรมโมโหไม่พอใจใส่เกษตรกร เพราะเห็นว่าไม่ได้มาเพียงคนเดียว แต่มีญาติมาด้วยถึง 3 คน บุคคลนั้นก็ยังดำเนินการต่อโดยพาเกษตรกรมาจอดรถที่ตลาดบางแค แล้วพาเดินเข้าไปภายในตลาด พร้อมบอกให้ชั่งปลา ขณะที่เจ้าของกำลังชั่งปลาอยู่นั้น บุคคลที่นัดหมายเกษตรกรได้หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว เจ้าของปลาพยายามตามหาทั่วตลาด รวมทั้งโทรศัพท์ตามก็ติดต่อไม่ได้ เจ้าของปลาบอกว่า หากไม่ได้นำญาติมาด้วย อาจจะถูกหลอกสูญเสียทรัพย์สินเงินทองแน่นอน

เหตุการณ์ทำนองนี้ กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้รับการร้องเรียนอยู่เป็นประจำ

ทางภาคเหนือ เมื่อเรื่องของเกษตรกรตีพิมพ์ จะมีคนโทรศัพท์ขอเงิน ครั้งละ 3,000-5,000 บาท บอกว่าเจ็บป่วย

ในเขตกรุงเทพฯ มีการนัดหมายให้เกษตรกรนำพันธุ์ไผ่ไปให้ดู โดยอ้างว่าจะซื้อไปปลูกในโครงการจำนวนมาก แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า มีคนกำลังนั่งเล่นไพ่ และชวนให้เจ้าของไผ่เล่นด้วย ดีที่เจ้าของไผ่ไหวตัวทัน รีบออกมาจากบริเวณดังกล่าวเสียก่อน

เมื่อปี 2558 เจ้าของแพปลา ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ได้รับโทรศัพท์ว่า จะซื้อปลากรายส่งออก ซึ่งอ้างว่ารู้จักกับผู้สื่อข่าวและนักการเมืองชื่อดัง โดยให้โอนเงินค่าประกันการส่งออกให้ก่อน เมื่อตรวจสอบรายละเอียด จึงทราบว่า เป็นกลุ่มมิจฉาชีพคอยดูตามสื่อต่างๆ แล้วหลอกหากิน

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน โดยลงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์นั้น เพื่อให้มีการติดต่อซื้อขายกันโดยตรง แต่ก็ขอเตือนว่า หากมีการตกลงซื้อขายเกิดขึ้น ควรดำเนินการอย่างรัดกุม หรือหากนัดหมาย ควรจะมีบุคคลอื่นรับรู้ เพื่อป้องกันการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ