เปิดตัวเลขพิษสุนัขบ้าระบาด พบกว่าครึ่ง มีเจ้าของ ชี้ ปล่อยปละละเลย ผิด กม. !!

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ว่า แม้ตัวเลขที่พบในสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขประชาชนที่มารับวัคซีนยังเฉลี่ยไม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งปกติจะมีคนมารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประมาณ 300,000 คน ซึ่ง ณ ปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 2 เดือน มีคนมาฉีดวัคซีน 39,000 คน ซึ่งหากอยู่ในจำนวนนี้ตัวเลขทั้งปีก็จะเฉลี่ยไม่เกิน 3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม กรณีสัตว์ที่มีการตรวจพบเชื้อจากหัวสุนัขนั้นกลับพบเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการฉีดวัคซีนในสัตว์ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งมีการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดก็มีการปลดล็อกข้อทักท้วงของ สตง. ที่กังวลว่า หากท้องถิ่นใช้งบฯ ซื้อวัคซีนจะซ้ำซ้อนกับกรมปศุสัตว์ รวมทั้งกังวลว่าอาจไม่ใช่หน้าที่

“เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงมหาดไทย ก็มีประกาศในการปลดล็อกดังกล่าว รวมทั้งมีโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักณ์ อัครราชกุมารี โดยมีพระปณิธานให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2563 รวมทั้งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทางผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า สนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งติดต่อไปสู่คนได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องตระหนักด้วยว่า หากถูกสุนัขกัดต้องรีบมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งกรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบฯ ในการซื้อวัคซีนฉีดในคน รวมทั้งเซรุ่มสกัดจากน้ำเหลือง ซึ่งจะใช้ฉีดในกรณีที่คนถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทมากๆ เช่น มือ และใบหน้า และมีแผลเหวอะหวะมากๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากฉีดเร็วก็ป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้ประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า มีพื้นที่ไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากยังพบว่ามีสุนัขเลี้ยงมีปัญหาเพิ่มขึ้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์จะพบหัวสุนัขติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อย่างในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปีนี้ เพิ่มสูงถึง 2 เท่า มากกว่าช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2560 โดยพบมากทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆ ที่พบตั้งแต่ ปี 2559

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ก็ยังพบ แต่มีการขยายเพิ่มไปทางอีสานตอนกลาง และภาคตะวันตก ภาคใต้ จริงๆ ไม่อยากระบุเป็นภาค หรือเป็นจังหวัดมากนัก เพราะข้อเท็จจริงต้องระวังทั้งประเทศ เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์มากขึ้นด้วย เห็นได้จากข้อมูลว่าสัตว์ที่มีเจ้าของพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยพบถึงร้อยละ 54-55 ของหัวสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า

ขณะที่สุนัขจรจัดมีประมาณร้อยละ 35 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณว่า สุนัขมีเจ้าของเริ่มมีปัญหา ซึ่งอาจมาจากเจ้าของบางคนปล่อยปละละเลย หรือฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจไม่ระวังเลี้ยงแบบเปิด ทำให้สุนัขหนีออกไปข้างนอกและอาจไปสัมผัสกับสุนัขสาธารณะที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้

เมื่อถามว่า ปัญหาสุนัขที่มีเจ้าของมีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะพบได้ในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานครหรือไม่ เพราะคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันเยอะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่เสมอไป แต่ในเมืองก็มีการเลี้ยงเพิ่มอยู่ ส่วนพื้นที่ กทม. ตนมองว่า คนมีความรู้และทางกรุงเทพมหานครก็มีการบริหารจัดการ อย่างหากเจ้าของปล่อยปละละเลย แล้วสุนัขป่วยไปกัดคนอื่นก็จะมีความผิดทั้ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการ