เผยแพร่ |
---|
เช้าวันนี้ น้องเต้ย และ น้องฮาร์ท วัย 9 ขวบ ชั้น ป.2 รวมทั้งน้องปั๊บ ชั้น ป.1 นักเรียนโรงเรียนบ้านคลองแขยง จ.กำแพงเพชร ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้ “ผ.ผักสวนครัว” ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณครู ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน กิจกรรมใหม่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน
ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ โรงเรียนมีขนาดเล็กทำให้ต้องจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อาทิ แหล่งเรียนรู้ “ผ.ผักสวนครัว”, “ข.ขยะขายได้”, “บ.บ้านอัญชัน”, “ร.เรือนนางฟ้า”, “น.น้ำหมักชีวภาพ”, “บ.ใบไม้ทับถม” และ “ป.ปลาตากลม” เป็นต้น
สามหนุ่มน้อยขมีขมันช่วยกันตัดต้นอ่อนทานตะวันที่ปลูกไว้ในตะกร้า แบ่งใส่ถุงพลาสติกใส แล้วนำไปชั่งให้ได้ถุงละ 150 กรัม ฝากให้คุณครู ผู้อำนวยการ นำไปจำหน่าย ในราคาถุงละ 20 บาท
กิจกรรมการเพาะต้นอ่อนทานตะวันของโรงเรียนบ้านคลองแขยง เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นการต่อยอดกิจกรรมภายใต้โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เข้ามาส่งเสริมการผลิตอาหาร ให้ความรู้ด้านคุณภาพอาหารและความปลอดภัย รายได้จากการจำหน่ายทางโรงเรียนนำเข้ากองทุนจากการขายผักของโรงเรียน ปัจจุบันโรงเรียนมีทั้งกองทุนจากการขายผัก ขายเห็ดนางฟ้า และทำน้ำสมุนไพร โดยปันผลคืนให้นักเรียนในช่วงปลายปีการศึกษา
น้องเต้ย ด.ช. สุพรรณ จันผ่อง เล่าว่าต้นอ่อนทานตะวันปลูกง่าย นำไปประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนและจำหน่าย ขายไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง มีรายได้เข้ากองทุนรวม 1,060 บาท
ด้าน น้องฮาร์ท ด.ช. ธนพล พึ่งโพธิ์ เล่าเสริมว่า ในการเพาะต้นอ่อนทานตะวันแต่ละครั้งจะใช้เมล็ดทานตะวัน 500 กรัม สามารถผลิตต้นอ่อนทานตะวันได้ 3 กิโลกรัม นำไปขายมีรายได้ 400 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิต จะมีกำไรถึง 315 บาท ต่อครั้ง ที่จำหน่าย จากการเรียนรู้การเพาะต้นอ่อนทานตะวันนำกลับไปทำเองที่บ้าน พ่อและแม่ช่วยเอาไปขาย มีรายได้ช่วยค่าใช้จ่ายของที่บ้าน แม้จะไม่มากมายแต่ภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือครอบครัว
น้องเล็กสุด ด.ช. ศุภณัฐ ปานฤทธิ์ หรือ น้องปั๊บ กล่าวว่า ดีใจที่ช่วยกันผลิตอาหารได้เอง ทำได้เองทุกขั้นตอน คุณครูยังมอบหมายให้น้องปั๊บถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้ให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนด้วย
“กิจกรรมเพาะต้นอ่อนทานตะวัน” ไม่ได้เกิดผลแค่เพียงการส่งเสริมรายได้ แต่เป็นการปลูกฝังวินัย ความรับผิดชอบ รู้จักการทำงานร่วมกัน และเป็นความพยายามของโรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เห็นความสำคัญของการให้เด็กมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์จริง เรียนรู้ด้านการเกษตรที่เป็นพื้นฐาน เติมทักษะชีวิตเพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ที่มา ข่าวสดออนไลน์