สรรพสามิตดึงบิ๊กค้าปลีกเป็นฐานภาษี แจ้งราคาขาย “บุหรี่-เหล้า-เครื่องดื่ม” ต่ำกว่าตลาด 5% เจอเก็บเพิ่มบวกค่าปรับ

“สรรพสามิต” ลงนามผู้ค้าปลีก 18 ราย แจ้งข้อมูลราคาปลีกบุหรี่ เบียร์ สุรา เครื่องดื่ม ทุกไตรมาส ใช้เป็นฐานเก็บภาษี เผยอยู่ระหว่างศึกษาเก็บภาษีมลพิษน้ำมัน-มอเตอร์ไซค์ หารือพลังงานใช้กองทุนน้ำมันช่วย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตร่วมลงนามกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าสรรพสามิต รวม 18 ราย ให้ช่วยแจ้งข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าต้องเสียภาษีสรรพสามิต เช่น บุหรี่ เบียร์ สุรา เครื่องดื่ม ในทุกไตรมาส เพื่อกรมสรรพสามิตรวบรวมข้อมูลราคาขายปลีกหาราคาฐานนิยมที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีและการตรวจสอบภาษีต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตเปลี่ยนวิธีคิดภาษีใช้ฐานของราคาขายปลีกแนะนำมาคิดภาษีแทนของเดิมที่ใช้ราคาหน้าโรงงาน และราคานำเข้า เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 โดยกรมต้องสำรวจราคาขายปลีกในท้องตลาดเพื่อทดสอบกับราคาที่ผู้ประกอบการแจ้งมา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถแจ้งต่ำกว่าหรือสูงกว่าในตลาดประมาณ 5% เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเก็บภาษี กรณีแจ้งมาต่ำกว่าราคาฐานนิยมมากกว่า 5% จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มพร้อมค่าปรับ

“การแจ้งราคาขายปลีก ใช้คิวอาร์โค้ดของสินค้าในการดำเนินการและแจ้งผ่านออนไลน์ โดยราคาฐานนิยมดูจากราคาขายกันมากที่สุด โดยสำรวจจากห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านโชห่วย” นายกฤษฎา กล่าวและว่า สำหรับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าสรรพสามิต 18 ราย ประกอบด้วย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด, บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล

แฟมิลี่มาร์ท จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด, บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด, บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน), บริษัท วิลล่า มาร์เก็ต เจพี จำกัด, บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด, บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอก-ชัย             ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด

นายกฤษฎา กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บภาษีค่ามลพิษ หรือจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ (CO2) ว่านอกเหนือจากการศึกษาเพื่อจัดเก็บภาษีจากรถจักรยานยนต์แล้ว กรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงานในการจัดเก็บภาษีน้ำมันตามค่ามลพิษ ซึ่งยืนยันว่าแนวคิดการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยในเรื่องน้ำมันนั้นจะใช้กองทุนน้ำมันเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน

“ในเรื่องรถจักรยานยนต์นั้น หากเก็บภาษีตามค่ามลพิษ ส่งผลให้รถราคา 5 หมื่นบาท เสียภาษีเพิ่มคันละ 150-200 บาทเท่านั้น ถือว่าไม่มาก โดยที่ผ่านมาเชิญผู้ประกอบการมาหารือแล้ว เห็นด้วยกับแนวคิด   ดังกล่าว ซึ่งกรมอยู่ระหว่างเร่งสรุปผลการศึกษาเพื่อเสนอไปยังฝ่ายนโยบายต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน