กรมชลประทาน ขยายโอกาสให้ลูกหลานเกษตรกรไทยเข้าเรียนวิทยาลัยการชลประทาน เรียนรู้เรื่องน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด “โครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อในวิทยาลัยการชลประทาน กรมชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของบุตรเกษตรกร” เปิดโอกาสให้ลูกหลานเกษตรกรไทยเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการชลประทาน พร้อมเป็นตัวแทนมอบทุนการศึกษา “ต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน”

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า วิทยาลัยการชลประทาน กรมชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อของบุตรเกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเมล็ดพันธุ์สู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยเปิดโอกาสให้ทายาทของผู้ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ชาวประมง เจ้าของกิจการตามที่คณะหรือสาขาวิชากำหนดได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS เข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น วิทยาลัยการชลประทาน จึงได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาและวางรากฐานด้านน้ำให้กับเยาวชนลูกหลานเกษตรกรไทยทั้งประเทศ บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยการเปิดโอกาสให้บุตรหลานของเกษตรกรเข้ามาเรียนในวิทยาลัยการชลประทาน เป็นระยะเวลา 4 ปี

เมื่อจบการศึกษาจะได้รับวุฒิวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา-ชลประทาน ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้ จะมีโอกาสฝึกงานจริงในหน่วยงานของกรมชลประทาน ทั่วประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง ที่สำคัญจะมีโอกาสเข้าทำงานในกรมชลประทานภายใต้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้กับบุตรหลานเกษตรกร สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ตั้งกองทุนการศึกษา “ต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน” เพื่อมอบทุนการศึกษาตลอด 4 ปี จำนวน 5 ทุน โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดโครงการและเป็นตัวแทนมอบทุนการศึกษา

เนื่องจากโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในปี 2564 จะเพิ่มทุนการศึกษาเป็นจำนวน 20 ทุน เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุตรหลานเกษตรกรมากขึ้นอีกด้วย

ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยเรา จะมีต้นกล้าพันธุ์ใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรและการชลประทานกลับไปช่วยงานภาคการเกษตรในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง สามารถที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวของตนให้มีความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป