พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับกาแฟ

ในปี พ.ศ. 2521 กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับโครงการหลวง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกกาแฟอาราบิก้า ซึ่งได้พันธุ์มาจากปาปัวนิวกินี โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านมูเซอส้มป่อย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “บริเวณนี้กาแฟน่าจะปลูกได้เหมาะสมดี ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวเขาให้ปลูกกาแฟที่ถูกต้องและมีการจัดการที่ดี เพราะรู้สึกว่าชาวเขาจะปลูกอยู่ไม่เป็นระเบียบ และพันธุ์กาแฟที่จะส่งเสริมให้ชาวเขาปลูก ควรจะเป็นพันธุ์กาแฟที่แตกต่างจากภาคใต้”

ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2523 กรมวิชาการเกษตร ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาค้นคว้าหาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม การอารักขาพืช และเทคโนโลยีการปลูกที่เหมาะสมบนพื้นที่สูง พันธุ์กาแฟที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนั้นคือ สายพันธุ์บาติมอร์ ซึ่งต่อมาภายหลังได้กระจายพันธุ์ไปสู่หน่วยงาน และโครงการต่างๆ บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือโดยทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2527 พื้นที่ที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม โดยเฉพาะที่บ้านแม่หลอด ตำบลสบเป็ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการยกฐานะเป็น “ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิก้า” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการหลวงภาคเหนือ ดำเนินการโดยนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กาแฟอาราบิก้าต้านทานโรคราสนิมก็ได้กระจายไปยังสถานีส่งเสริมของโครงการหลวงต่างๆ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี เขาค้อ ขุนวาง และสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จนถึงปัจจุบัน

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังสถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง มีพระราชดำรัสกับ นายสุนันท์ ละอองศรี หัวหน้ากลุ่มนักวิจัยกาแฟ เกี่ยวกับแปลงทดสอบ และศึกษาพันธุ์กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ต่างๆ ที่ต้านทานโรคราสนิมว่า

“สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นที่สุดในการปลูกกาแฟ แม้ว่าจะได้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราสนิมแล้วก็ตาม คือระบบรากต้นกล้าต้องสมบูรณ์ ก่อนย้ายปลูก โดยเฉพาะรากแก้ว จะต้องไม่คดงอ และไม่ควรจะให้งอ แม้แต่เหมือนกับหางสุนัขก็ตาม”