กะทกรก พืชแก่เก่ารักษาได้หลายโรค ทำเป็นอาหารก็ดี

พืชพื้นบ้านมากมายหลายชนิด ที่ค่อยๆ สูญหายไปจากความทรงจำของคนบ้านเรา หมายถึงว่าพืชบางอย่างเรามักจะลืม ว่ามันมีประโยชน์ โดยเฉพาะที่ว่า เป็นพืชกินได้ และมีหลายอย่างที่เลือนหายไป สูญพันธุ์ไป ทำให้เราไม่ได้พบเห็น ก็เลยทำให้หายไปจากความทรงจำ เมื่อก่อนเคยรู้จัก เดี๋ยวนี้แม้แต่ว่าเคยรักก็จำไม่ได้

“กะทกรก” พืชชนิดหนึ่งที่ยังพบเห็นกันอยู่ทั่วไป ตามไร่ ตามสวน ปลายหนาว ช่วงแล้งนี่ พบเจอบ่อยมาก คงเป็นเพราะมีพืชไม่กี่ชนิดที่จะมีความโดดเด่น ชัดเจนเช่นนี้นะ ออเจ้า

“กะทกรก” หากจะนับว่าเป็นวัชพืช ก็อาจจะใช่ เพราะเป็นพืชที่ขึ้นมาคอยแย่งน้ำแย่งอาหาร กับต้นพริก ต้นมะเขือ ต้นผักหวาน ต้นกระถินริมรั้ว ยิ่งในยามที่เกิดความแห้งแล้ง เวลาที่มีน้ำจำกัด กะทกรกกลับชอบชิงพื้นที่เจริญงอกงาม นั่นก็แสดงว่า เป็นคู่แข่งกับพืชปลูกทั่วไป หรือภาษาเกษตรเรียกว่า “วัชพืช” นั่นเอง แต่จะเป็นวัชพืชที่รุนแรงร้าย แบบที่ว่าต้องกำจัดหรือไม่ ยังหาบทสรุปไม่ได้ แต่ด้วยการคาดเดา คงจะอิงเอาเหตุผลต่างๆ สวมอ้างได้ว่า ไม่นะ มองในแง่บวก น่าจะเป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากกว่าโทษ

เมื่อสมัยความเจริญยังไม่กระจายไปทั่วถึง ตามชนบท คนบ้านไร่บ้านนา รู้จักกันดี ลูกกะทกรก ที่อมเปรี้ยวอมหวาน บวกกับความมันเมื่อได้ขบลิ้มรส ลูกผลอร่อย ดอกสวยงามตา มีความวิจิตร เต็มไปด้วยศิลป์ขั้นเทพ ธรรมชาติที่รังสรรค์ให้เกิดความงดงาม ยามดอกกะทกรกบานรับแสงตะวัน ยอดเถากะทกรกชูยอดรับแดดลม พลิ้วโบกโยกไหว มีมือเรียวเล็ก แต่เหนียวแน่น คอยพยุงยึดเหนี่ยวให้เถาขึ้นพันสิ่งของข้างตัว ให้เชิดยอดใบ รับแดดลมและอากาศ เหมือนอยากจะทะยานขึ้นเกาะขี่ก้อนเมฆที่บนฟ้า

อันที่จริง กะทกรกเป็นพืชที่มีกำเนิดจากทวีปอเมริกา เป็นพืชพื้นเมืองของเขตร้อนที่โน่น ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเข้ามาสู่แถบเอเชียตั้งแต่ตอนไหน สันนิษฐานว่าคงเข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะเป็นยุคสมัยที่มีการติดต่อค้าขาย เชื่อมสัมพันธไมตรีกันหลายกลุ่มหลายพวกหลายสัญชาติ โดยเฉพาะพวกที่คนไทยเราติดปาก เรียกเขาว่า “ฝรั่งๆๆ” เช่นเดียวกับกะทกรกนี้ คนบ้านเราทางเหนือเรียก “ผักแคบฝรั่ง” คนแถบชายทะเลชลบุรีเรียก “ตำลึงฝรั่ง” ผักแคบทางเหนือก็คือผักตำลึงนั่นเอง แถบภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน แถบอุตรดิตถ์ พิษณุโลก เรียกว่า “หญ้าถลกบาตร” ภาคอีสาน แถวชัยภูมิ เรียก “ตำลึงทอง” ศรีสะเกษ เรียก “ขนตาช้าง” จังหวัดเลย เรียก “ผักขี้หิด” ภาคกลาง บางแห่งเรียกว่า “รก” ชัยนาท เรียก “เถาสิงโต หรือ เถาเงาะ” ภาคใต้ เรียก “กระโปรงทอง” พังงา เรียก “หญ้ารกช้าง” ระนอง เรียก “รกช้าง” และที่สำคัญ กะทกรกมีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อขยี้เถา ใบ จะมีกลิ่นเหม็นเขียว เหม็นฉุนมากๆ ชาวบ้านแถบจังหวัดอุดรธานี เรียก “เยี่ยววัว” ปลูกไว้กันสัตว์ต่างๆ เข้าไปทำลายพืชปลูกได้เป็นอย่างดีด้วย

กะทกรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PASSION FLOWER หรือ PASSION POWER PASSIFLOBA FOETIDA เป็นพืชในวงศ์ Passiflobaceae เป็นไม้เนื้ออ่อนเถาเลื้อย มีมือจับพันเกาะต้นไม้อื่น เถากลม สีเขียว มีขนอ่อนนุ่มสีทองคลุมทั่วไป ใบกะทกรกเป็นลักษณะใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ออกเรียงสลับ ขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก สีเขียวสด มีขนปกคลุมทั้งด้านบนและล่าง ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ กลีบดอกด้านนอกสีเขียวจางๆ ด้านในสีขาว มีเส้นรยางค์เป็นริ้วสีม่วง ปลายรยางค์สีขาวแผ่เป็นรัศมี เมื่อดอกบาน เพ่งพิศดูความพิสดารของรูปทรง งดงามยิ่งนัก เมื่อผสมเกสรจะติดผล ลักษณะกลม มีรกรูปตาข่ายสีขาวคลุมห่อรอบผล ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน และจะมีสีเขียวเข้มขึ้นเมื่อแก่ และเป็นสีเหลือง ส้ม เมื่อสุกแก่ ในผลมีเมล็ดสีดำมีเยื่อสีขาวใสหุ้ม คล้ายเมล็ดแมงลักเมื่อแช่น้ำ เปลือกผลเปราะบาง บีบแตกง่ายมาก กินเมล็ดรสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ขบเมล็ดกรุบๆ ไม่ใช่ว่ามีแต่เด็กๆ สมัยก่อนชอบ แย่งกันเด็ดมาดูดกินเมล็ด ทุกวันนี้ก็ยังชอบ ดูดกินเมล็ดกะทกรก ทุกครั้งที่พบเจอ และเมื่อวานนี้ รสชาติยังเหมือนเดิม

ชาวบ้านนิยมเด็ดเอายอดอ่อนกะทกรกมาลวกกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก แจ่ว หรือไม่ก็ใส่แกงส้มปลา แกงส้มหมู ปนกับผักอื่น เช่น ผักตำลึง ยอดมันเทศ ผักบุ้งนา หรือไม่ก็หั่นชุบแป้งทอดกรอบ รสชาติดี แม้ว่ากลิ่นจะไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อโดนความร้อนแล้วกลิ่นจะจางหายไป ที่สำคัญ กะทกรกเป็นสมุนไพร รากใช้ต้มน้ำดื่มแทนการดื่มน้ำชา บำบัดโรคเบาหวานได้ผลดีทีเดียว เมื่อนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม ถ่ายพยาธิได้ทุกชนิด ส่วนต้นกะทกรกแก่แล้วก็ให้สังเกตที่ผลสุกแก่ ที่ได้แนะนำให้เด็ดมาดูดกินเม็ดในนั่นแหละ ถอนเอารากมาต้มดื่ม เมื่อเวลาถอนต้นมาแล้ว ล้างให้สะอาด ทั้งราก ต้น เถา ใบ ผล สับหรือหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง ตากแห้งแล้วห่อกระดาษฟาง หรือใส่กล่อง ใส่ขวดโหล เก็บรักษาไว้ให้ดี นำมาต้มน้ำ 3 แก้ว ให้เหลือ 2 แก้ว ดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้โรคเหน็บชาได้ผลชะงัดนักแล

ทุกวันนี้ คงจะมีผู้คนมากมายที่พยายามค้นหาอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษเจือปน หรือสะสมอยู่ มีการเสาะหาพืชผักที่ปลอดภัย โดยเฉพาะพืชที่เชื่อว่าเป็นพืชอินทรีย์ เช่น พืชผักพื้นบ้าน นำมาประกอบอาหาร ให้กินได้อย่างสะดวกใจ เชื่อว่าปลอดภัย อีกทั้งเป็นสมุนไพร ได้รักษา บำรุงร่างกายให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทุกวันนี้ต่างก็ยังไม่ได้ผลตอบสนองที่ชัดเจน ตามที่เสาะแสวงหาได้เต็มที่นัก เป็นเพราะสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมบ้านเราเปลี่ยนไป ซึ่งการคืนสู่สามัญ สู่ต้นกำเนิด รากเหง้าของคนไทยนั้น คือทางเดียวที่จะบรรลุผลตามปรารถนา แม้ว่าหนทางที่จะย้อนกลับไปนั้น จะเป็นทางที่ไกลที่สุดก็ตามที เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ