ไทย-เยอรมัน ผนึกพัฒนาดาราศาสตร์ ตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้

จากกรณีที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ลงนามความร่วมมือกับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุและซอฟต์แวร์ในการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุสำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ที่ สดร. เตรียมก่อสร้าง ณ บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร. มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่าย  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อเร็วๆ นี้
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุและซอฟต์แวร์ในการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุ สำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ โดยการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณในย่านความถี่แอลแบนด์ (1.0-1.8 กิกะเฮิร์ตซ์) และ เคแบนด์ (18.0-26.0 กิกะเฮิร์ตซ์) รวมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุอเนกประสงค์ ที่ใช้งานได้ทั้งโหมดการใช้งานแบบจานเดี่ยว และแบบเชื่อมต่อกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากทั่วโลก

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. มีแผนดำเนินการสร้าง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ เพื่อ  ส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาก     พระราชดำริ กำหนดแผนดำเนินการระหว่างปี 2560-2563 คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จ เริ่มใช้งานประมาณปี 2564
ด้าน ดร. สุวิทย์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยดาราศาสตร์และฟิสิกส์ระดับรากฐาน เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำ ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง ที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โทรคมนาคม วิศวกรรม การแพทย์ และ วิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ สอดรับนโยบายการพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มของประเทศ และตอบโจทย์ ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด