รถกระเช้าอเนกประสงค์ เก็บเกี่ยวผลผลิตหรือทำงานในที่สูง ครบวงจร

ใช้งานได้สูงสุดจากพื้นดิน ประมาณ 7 เมตร

โครงการการพัฒนารถกระเช้าอเนกประสงค์ เป็นผลงานความร่วมมือในการพัฒนาของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท พงศ์พัฒนกิจ ก่อสร้าง จำกัด ภายใต้โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

รศ.ดร. ธัญญะ เกียรติวัฒน์ หัวหน้าโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาและออกแบบว่า รถกระเช้าอเนกประสงค์มีลักษณะเป็นแขนกลที่ส่วนปลายของแขนจะมีกระเช้าติดตั้งเอาไว้ ซึ่งแขนกลนี้จะอยู่ที่ด้านหลังของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ที่มีขนาดของเครื่องยนต์ไม่น้อยกว่า 30 แรงม้า เคลื่อนที่ด้วยการใช้ระบบไฮดรอลิกส์ในการขับเคลื่อน (ปั๊มไฮดรอลิกส์จะต่อโดยตรงเข้ากับเพลาอำนวยกำลังของรถแทรกเตอร์ (PTO Shaft) ใช้เป็นต้นกำลังของระบบไฮดรอลิกส์ในการขับเคลื่อนระบบต่างๆ)

1469169406ทั้งนี้ สามารถควบคุมการทำงานได้ 2 ระบบ ได้แก่ การควบคุมการทำงานระบบไฮดรอลิกส์ด้วยคันโยก และการควบคุมการทำงานระบบไฮดรอลิกส์ด้วยระบบไฟฟ้าที่ติดอยู่บนกระเช้า

ผู้ใช้สามารถใช้งานและควบคุมกระเช้าได้ด้วยตัวเองในขณะเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือทำงานในที่สูง

รถกระเช้าอเนกประสงค์สามารถใช้งานได้สูงสุดจากพื้นดิน ประมาณ 7 เมตร และสามารถรองรับน้ำหนักที่ปลายกระเช้าได้ 100 กิโลกรัม อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ เป็นของตนเองไว้ใช้งานในภาคการเกษตร โดยมีรูปแบบใช้ติดพ่วงและใช้กำลังจากรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ (Tractor-mounted Equipment) ซึ่งจะเป็นเครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวพืชสวนของเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี

คณะผู้วิจัยโครงการการพัฒนารถกระเช้าอเนกประสงค์
คณะผู้วิจัยโครงการการพัฒนารถกระเช้าอเนกประสงค์

ด้าน นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยเมื่อก่อนจะเป็นโครงการวิศวกรรมย้อนรอย คือการนำเข้าเครื่องจักรต้นแบบจากต่างประเทศมาต่อยอดและประดิษฐ์เครื่องจักรกลใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้าเครื่องจักรและเกิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถานบันการศึกษา โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเงินทุนการวิจัยในการสร้างเครื่องจักรต้นแบบ และหลังจากที่เครื่องต้นแบบสำเร็จแล้ว อีก 2 ปี จึงมีการเผยแพร่แบบของเครื่อง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

พร้อมกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการตรวจสอบสมรรถนะของรถกระเช้าอเนกประสงค์ให้ตรงตามแบบที่กำหนด และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถนำมาทดสอบและขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้

รถกระเช้าอเนกประสงค์ ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้ได้ดีในงานการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มังคุด ลองกอง ลางสาด ทุเรียน ฯลฯ นั้น ด้วยต้องใช้แรงงานที่มีความสามารถและความชำนาญงานโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันช่วงของฤดูการเก็บเกี่ยวผลไม้ ความต้องการแรงงานเหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงงานและค่าแรงที่สูง และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานได้ เนื่องจากต้องทำงานในที่ที่มีความสูง อีกทั้งการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมีความล่าช้าในการเก็บผลผลิต ก่อให้เกิดความเสียหายและขายไม่ได้ราคา

ต่อเข้ากับรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ ของเกษตรกร
ต่อเข้ากับรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ ของเกษตรกร

ดังนั้น หากเกษตรกรมีเครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยวพืชสวนหรือผลไม้ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ รถกระเช้าอเนกประสงค์ ยังสามารถใช้ทำงานในที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานซ่อมบำรุงหรือการติดตั้งงานบนที่สูงของหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าสูง การซ่อมบำรุงหรือการติดตั้งสายไฟฟ้าสายโทรศัพท์ บนเสาสูง ก็สามารถนำเครื่องจักรตัวนี้ไปประยุกต์ใช้งานได้เช่นกัน

ด้วยรูปแบบการทำงานดังกล่าว จึงเรียกชื่อว่า รถกระเช้าอเนกประสงค์

 

หากหน่วยงานหรือเกษตรกรชุมชนใดสนใจ สามารถเข้าชมเครื่องต้นแบบได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประสานงานได้ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Call Center 1313 หรือติดต่อสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี โทร. (02) 333-3924