มะม่วงหนองวัวซอ ขายไม่ต้องรออาลีบาบา

อําเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เดิมเป็นพื้นที่การเกษตรปลูกอ้อย มันสำปะหลัง เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย จนกระทั่งสำนักงานเกษตรอำเภอหนองวัวซอได้ริเริ่มสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกมะม่วง หลังจากทดลองว่าดินในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอสามารถปลูกมะม่วงได้เป็นผลดีในราว พ.ศ. 2537 จากนั้นเกษตรกรใน อำเภอหนองวัวซอ ก็หันมาปลูกมะม่วงมากขึ้นจนกลายเป็นสินค้าหลักของอำเภอ และ   มีการจัดงานวันมะม่วง ของดีหนองวัวซอพร้อมกับงานกาชาดเป็นประจำทุกปี

นายวิชัย โคตรโมลี เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอหนองวัวซอ เป็นผู้ดำเนินงานส่งเสริมการปลูกและเก็บเกี่ยวมะม่วงอย่างต่อเนื่อง โดยให้ข้อมูลว่าพื้นที่ปลูกมะม่วงปัจจุบันมี 5,693 ไร่ เกษตรกรปลูกมะม่วง 431  ครัวเรือน สร้างผลผลิต 3,539 ตัน ต่อปี มูลค่า 130 ล้านบาท สามารถส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม เกาหลีใต้ โดยพันธุ์มะม่วงยอดนิยม

คือ พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีรูปทรงสวยงาม ผิวเนียน รสชาติหอมหวานเป็นมาตรฐาน และทนต่อการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ที่นำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม และขนม และพันธุ์เขียวเสวย ที่ใช้กินดิบและแปรรูปเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม

นายเทพพร หิรัญรัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงและประธานภาคอีสาน สมาคมผู้ปลูกมะม่วงไทย กล่าวว่า ประเทศจีนและไต้หวัน มีความนิยมในมะม่วงสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อกระแสภาพยนตร์ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทยเป็นที่นิยมในจีน ร้านอาหารและเครื่องดื่มนำมะม่วงไปเป็นส่วนประกอบวัตถุดิบ ทำให้เอเยนต์ส่งออกมะม่วงต้องการรับซื้อมะม่วงอย่างไม่จำกัด จนราคามะม่วงในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มะม่วงในฤดู กิโลกรัมละ 40-50 บาท และมะม่วงนอกฤดูอาจราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 180 บาท และมีคำสั่งซื้อจากจีนในปี 2560 ถึง 100 ตัน ทำให้เกษตรกรสวนมะม่วงไม่พบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำมาเป็นเวลานาน หากเราเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศจีน เราจะได้พบร้าน  ผลไม้ปั่นที่มีมะม่วงเป็นผลไม้ชูโรงในทุกสถานที่ท่องเที่ยว โดยแบรนด์ร้านที่ติดตลาดมากที่สุดคือร้าน  “ฉันยุ่งมาก” หรือ ไท่หมางเลอ

ซึ่งเล่นคำว่ามะม่วงจากเมืองไทย กับคำว่ายุ่งมาก สามารถขยายสาขามากกว่า 500 สาขาในจีน ภายในเวลาเพียง 4 ปี จนมีร้านเลียนแบบเกิดขึ้นมากมาย

นอกจากนี้ เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงโดยใช้วิธีออร์แกนิกส์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง สามารถดูแลและส่งสินค้ามะม่วงไปยังไต้หวันและประเทศญี่ปุ่น โดย นายบุญช่วย พัฒนาชัย กลุ่มเกษตรกรปลูกมะม่วงบ้านโนน

หมากไฟ ตำบลอูบมุง อำเภอหนองวัวซอ ใช้วิธีห่อผลเพื่อป้องกันแมลง และคัดเฉพาะผลที่สวยที่สุดห่อใส่กล่องเป็นสินค้าพรีเมียม กล่องละ 9 ลูก ก่อนจะส่งออก โดยได้ราคาส่งกล่องละ 300 บาท ขึ้นไป และเราจะพบมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงมหาชนกระดับพรีเมียมได้ตามร้านผลไม้สุดหรูในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าชั้นนำในญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นนิยมมะม่วงจากเมืองไทยว่ามีรสชาติหวาน หอมละเมียดละไม ต่างจากมะม่วงไต้หวันหรือฟิลิปปินส์ที่มีรสฝาดเฝื่อนเจือ

ราคามะม่วงที่สูงขึ้นในภาพรวม มีที่มาจากอุตสาหกรรมส่งออกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะม่วงทั้งดิบและสุก ทำให้เห็นว่าผลิตผลทางการเกษตรสามารถรักษาราคาและทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้ หากมีการประสานงานเป็นระบบตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการส่งออก เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและกระตุ้นการบริโภคไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในระยะหลังของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง อำเภอหนองวัวซอ คือปัญหาภัยแล้งและพายุฤดูร้อน ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นจนทำให้ผลผลิตมะม่วงเสียหาย ซึ่งทางเกษตรกรได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐจัดหาวิธีชลประทานเพื่อบำรุงสวนมะม่วงที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเป็นการเร่งด่วน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก ธีรภัทร เจริญสุข