อบต. พลูตาหลวง แจงดราม่า เหตุผล ให้เลี้ยงหมา-แมว บ้านละไม่เกิน 2 ตัว เพื่อคุมจำนวน

ที่ อบต.พลูตาหลวง ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้า พบ พ.จ.อ.พิษณุ โตสมบัติ นายก อบต.พลูตาหลวง และ นางอัญชลี แพงพรม ผู้อำนวยการกองสาธารสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.พลูตาหลวง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับติดป้ายประกาศ ตามที่มีกระแสในโลกโซเชียลได้มีการโพสต์ป้ายประกาศ พื้นที่ตำบลพลูตาหลวง เป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และข้อบัญญติ ตำบลพลูตาหลวง โดยกำหนดให้ ตึกแถว/อาคารพาณิชย์/ทาวน์เฮ้าส์/บ้านเดี่ยว/ สามารถเลี้ยงสุนัข, แมว ได้ไม่เกิน 2 ตัว และต้องดูแลควบคุมการเลี้ยงสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทำให้มีการแชร์ข้อความและการแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆนานา

นางอัญชลี แพงพรม ผู้อำนวยการกองสาธารสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.พลูตาหลวง กล่าวว่า ที่เราต้องติดป้ายเพื่อประกาศเป็นเขตควบคุมพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากทางเราได้ควบคุมการเลี้ยงสัตว์การปล่อยสัตว์ ตั้งแต่ ปี 2552 และทางเราก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อเสียงไร้สาย วิทยุชุมชน และการประชาคม ผู้นำชุมชนชาวบ้าน ที่เราต้องมีการประชาคมทุกปี แค่การประชาสัมพันธ์ตรงนี้ไม่ยังทั่วถึงชาวบ้าน ทำให้เกิดการเลี้ยงสุนัขจำนวนมากและก็เกิดการร้องเรียนตามมา ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนจากสุนัขที่มีเจ้าของ กรณีเลี้ยงจำนวนมากและดูแลสุขลักษณะไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็น เห่าเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนลำคาญให้กับประชาชนที่อยู่ข้างเคียงและก็ปัญหาร้องเรียนจากสุนัขจรจัด กรณีที่ไล่กัดประชาชน ตามถนนสาธารณะต่างๆ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะต่างๆ สร้างความเดือดร้อน ตรงนี้เป็นประเด็นที่พยายามแก้ไขกันมานานแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทางเราจึงได้ดำเนินการจัดทำป้ายตรงนี้ขึ้นมา 3 ป้าย มีการติดตั้ง ในวันที่ 5 ม.ค. 2561 จำนวน 3 จุด ในพื้นที่ อบต.พลูตาหลวง เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขควบคุมสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว บ้านละ 2 ตัว ส่วนใครที่เลี้ยงเกินไปจากนี้เราไม่ได้จะไปดำเนินปรับตามประกาศ แต่เราจะขอความร่วมมือมาขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงกับเรา เพื่อเป็นหลักฐาน จากนั้นให้เลี้ยงสัตว์จนหมดอายุไข ไม่นำมาเพิ่มเติม เลี้ยงได้แค่ 2 ตัว ตามที่เรากำหนด ตอนนี้มีเรื่องร้องเรียนคือการนำสุนัขมาถ่ายอุจจาระหน้าบ้าน เพราะบางบ้าน เลี้ยงแล้วปล่อย คือไม่ปิดรั้วหรือขังแต่อย่างใด สุนัขก็มาถ่ายอุจจาระ สร้างความเดือดร้อนรำคาญกับเพื่อนบ้าน ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราจับสุนัขจรจัด ส่งศูนย์สุนัขจรจัดโทนีไปแล้ว 150 กว่าตัว โดยใน ปี 59-60 มีเรื่องร้องเรียนกว่า 40 เรื่อง ส่วนมากเป็นเรื่องเหตุรำคาญ

ป้ายเราติดตั้งมานาน ก่อนจะมาได้รับกระแสเมื่อ 2-3 วัน ที่ผ่านมา เนื่องจากมีประชาชนมาเห็นแล้วสนใจมาถ่าย ก่อนนำไปลงโซเชียล ก็ต้องขอขอบคุณ ทาง อบต. ถือว่าท่านเป็น 1 เสียง ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เรา เพราะอย่างน้อยประชาชนในโลกโซเชียลได้ร่วมรับรู้ไปกับเราว่า ทาง อบต. พลูตาหลวง เริ่มมีการประกาศให้ชัดเจนมากขึ้น ในการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยง ทั้งๆ ที่มันมีมานานแล้ว แต่การประชาสัมพนธ์อาจจะยังไม่ทั่วถึง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทางเราขอขอบคุณ

สำหรับแนวทางการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ตำบลพลูตาหลวง ให้ทุกท่านนำสัตว์เลี้ยงออกมาฉีควัคชีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีละ 1 ครั้ง ควบคุมสัตว์เลี้ยงด้วยการทำหมันทุกตัว เพื่อควบคุมไม่ให้จำนวนเพิ่มขึ้น โดยสุนัขและแมว เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว สำหรับท่านที่เลี้ยงเกิน เพียงท่านมาขึ้นทะเบียน หลังจากนั้นท่านเลี้ยงจนให้หมดอายุไขของสัตว์เลี้ยง หลังจากนั้นก็เลี้ยงให้อยู่ในจำนวนที่กำหนด และก็ดูแลสุขลักษณะ ความสะอาด เพื่อลบผลกระทบกับผู้ที่อยู่อาศัยข้างเคียง ที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญได้ และไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงตัวเองไปปล่อยทึ้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานที่ราชการ โรงเรียน เพราะอาจสร้างผลกระทบตามมาหลายๆ ด้าน

ด้าน พ.จ.อ.พิษณุ โตสมบัติ นายก อบต.พลูตาหลวง กล่าวว่า ผมขอขอบคุณและยินดีที่ทางโลกโซเชียลนำไปเสนอ มีทั้งตำหนิและชมต่างๆ เพื่อจะได้พูดความจริงกัน ในทุกๆ แห่ง ทุกๆ ท้องถิ่น ที่เกิดปัณหาเกี่ยวกับสุนัข เพื่อจะได้ช่วยกันรณรงค์เกี่ยวกับการลดจำนวนลงของประชากรสุนัข ควบคุมโรคติดต่อของสุนัข ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่รักสุนัขและไม่ได้รักสุนัข ถ้าเรามีคนเลี้ยงสุนัข ในหมู่บ้านและข้างๆ ไม่ได้เลี้ยง ปัญหามันก็จะเกิดขึ้น โดยที่สุนัขมาถ่ยอุจจาระตามสถานที่ต่างๆ มันไม่ใช่ แต่เป็นเจ้าของเองที่นำสุนัขมาถ่ายอุจจาระหน้าบ้านคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องดำเนินการมาตรการต่างๆ ถ้าเราไม่มีกฎในการรองรับ อนาคตประชากรสุนัขและแมวก็จะมากขึ้น เราได้ไปจำกัดสุนัข บ้านที่เลี้ยงเกิน คุณก็เลี้ยงไป จนหมดอายุไข และควบคุมจนเหลือ 2 ตัว ตามข้อบัญญัติ ไม่เคยคิดไปปรับใครเขา แต่อันนี้มันเป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อที่จะปรามพวกที่รักสุนัขและแมว ให้อยู่ในวงจำกัด มันเป็นโอกาสที่จะให้ชาวบ้านมาลงทะเบียน เพื่อควบคุมประชากร และเพื่อจัดซื้อยาฉีดสุนัขและแมวให้เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย

ที่มา มติชนออนไลน์