สธ.เตือนผู้สูงอายุกินยา ให้กินทีละเม็ด ไม่ต้องรีบ

เตือนผู้สูงอายุกินหลายเม็ด ระวังสำลัก กล้ามเนื้อการกลืนหย่อนยานทำให้กลืนยาก อันตรายถึงตายได้ อนาคต รูปแบบยาจะเปลี่ยนไปเพื่อผู้สูงอายุเฉพาะ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่น เตือนการกินยาในผู้สูงอายุต้องระมัดระวังอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยระบุว่า “หมอตามโรงพยาบาลแนะนำให้เราทานยา  ทีละเม็ดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และน้ำพอควรที่เราเคยกลืนได้ พยาบาลส่งให้ทีละเม็ดเรารำคาญ อยากทานหลายเม็ดทีเดียว อันตรายมากอาจร่วงไปยังหลอดลม เกิดการอุดตันหายใจไม่ออกเสียชีวิตมานักต่อนักแล้ว และต้องตั้งใจกลืน ยิ่งคนสูงอายุยิ่งต้องตั้งใจเพราะกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการกลืนหย่อนยานทำให้กลืนยาก จะได้ไม่เสียชีวิต โดยอุบัติเหตุนี้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกสธ. กล่าวว่า ปัญหาการสำลักจากการทานยาในผู้สูงอายุ จะเป็นเคสๆ ไป เนื่องจากปัญหาจากการทานยามีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่สำลัก ทั้งการกลืนยาหลายเม็ด การหลงลืมกินยามาก หรือกินยาผิด ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้น การทานยาต้องมีการจัดแบ่งยาเป็นมื้อๆ และจัดทำเป็นตลับใส่ยาแบ่งเป็นเวลาในการทาน เพื่อป้องกันการหลงลืม โดยมีเขียนระบุไว้ด้วยบนตลับ อย่างไรก็ตาม โดยปกติเมื่อผู้สูงอายุมาพบแพทย์ ก็จะมีคำแนะนำให้ แต่จะเรียกผู้ใกล้ชิด ญาติ ลูกหลาน หรือผู้ดูแลมารับฟังวิธีการรับประทานยา ซึ่งจะแนะนำแนวทางปฏิบัติไว้ให้ ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว เพราะอาจมีการหลงลืมการ    รับประทานยา หรือในบางรายก็อาจกินยาหลายเม็ดในคราวเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสำลักยาได้

“กระทรวงมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือ Long term care ซึ่งก็จะมีทีมลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญยังมีบุคลากรที่เรียกว่าอสค. หรืออาสาสมัครครอบครัว ในการทำงานระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง หรือไม่มีคนดูแล คอยให้คำแนะนำ” โฆษกสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมียาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ นพ. โอภาส กล่าวว่า เป็นไปได้ในอนาคตอาจมีนวัตกรรม หรือรูปแบบยาที่เปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือยาน้ำ ก็อาจเป็นเจลลี่ เป็นต้น รวมไปถึงอาจมีนวัตกรรมแจ้งเตือนการรับประทานยาในผู้สูงวัยด้วย แต่ ณ ปัจจุบันที่สำคัญคือ ผู้ใกล้ชิดต้องคอยแนะนำและเตือนผู้สูงอายุที่บ้าน ในการรับประทานยา เนื่องจากเมื่อสูงวัยความเสี่ยงโรคเรื้อรังก็พบมากขึ้น การรับประทานยาก็มีหลายชนิด อาจทำให้หลงลืม หรือกินแล้วกินอีก รวมไปถึงบางรายไปกินหลายเม็ด ซึ่งไม่ส่งผลดี ก็ต้องคอยดูแลใกล้ชิด ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ทางกระทรวงก็มีนโยบายทำงาน    เชิงรุกอย่างการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ผ่าน อสค. และเครือข่ายระดับพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน