‘ดอกกรวย’ เหลืองสะพรั่งริมคลอง ที่มา ‘อ.บางกรวย’ คุณประโยชน์เพียบ!

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เฟซบุ๊ก กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ด้านอาหารเครือมติชน โพสต์ภาพพร้อมข้อความ “ต้นกรวย” ที่มาของชื่ออำเภอ “บางกรวย” ในจังหวัดนนทบุรี ออกดอกบานสะพรั่งริมคลอง ว่า

ต้น “กรวย” ที่มาแห่งนามบางกรวย
ออกดอกเหลืองสะพรั่งริมคลองบางนา ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง นนทบุรี

ชาวบ้านบอกว่ารากกรวยช่วยยึดตลิ่งฝั่งคลองได้ดี

ทรงต้นก็สวยมาก ที่จริงปลูกเป็นไม้ประดับน่าจะเข้าท่าครับ

ทั้งนี้ “กรวย” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Horsfieldia irya (Gaertn.) Warb. จัดอยู่ในวงศ์ MYRISTICACEAE มีชื่อเรียกหลายหลายแล้วแต่ท้องถิ่น อาทิ กรวย กรวยน้ำ กรวยสวน (กรุงเทพฯ), กะเพราพระ เพราพระ (ชุมพร), จุมพร้า ตุมพระ (นครศรีธรรมราช), ตุมพระ (สตูล), ยางู (สตูล), ตือระแฮ ระหัน หัน (ปัตตานี), แปงู (มลายู-นราธิวาส) อีกทั้งบางข้อมูลเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า “กรวยบ้าน” เป็นต้น

ต้นกรวย

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวย สูง 10-25 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 6-8 เมตร แผ่กว้างค่อนข้างแน่น ปลายกิ่งห้อยย้อย ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีรากคํ้ายันและเป็นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทาอมนํ้าตาล เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในศรีลังกา หมู่เกาะอันดามัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ มักขึ้นตามป่าดิบชื้นริมน้ำหรือบนที่ราบตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองตอนที่ติดต่อกับทะเล

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมีข้างละ 10-18 เส้น เป็นเส้นตรงขนานกัน ปลายเส้นโค้งขึ้นเลียบขอบใบ แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีนวล ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ดอก สีเหลือง ขนาดเล็กมาก มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่กิ่งเกลี้ยง และซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-15 เซนติเมตร ลักษณะเป็นกลีบรวม โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 2-3 แฉก ดอกแยกเพศร่วมต้น เกสรเพศผู้10 อัน ช่อดอกเพศผู้แตกแขนงแผ่กว้างกว่า ดอกมีขนาดเล็กและมีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย ออกดอกเดือน ธ.ค.-มี.ค.

ผล ลักษณะกลมเป็นผลแบบมีเนื้อ ออกเป็นพวง พวงละประมาณ 2-5 ผล ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผนังผลหนา เมื่อสุกผลจะเป็นสีส้มหรือสีแดงอมส้ม ก้านผลมีขนาดยาวประมาณ 0.8-1.1 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่สีน้ำตาล แข็ง และมีขนาดใหญ่ เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงอมส้ม หุ้มเมล็ดมิดชิดโดยรอบหรือเปิดเป็นช่องเล็กๆ ที่ส่วนบน ออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ผลกรวย

ประโยชน์ ใช้ในการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ ปลูกเพื่อให้ร่มเงาริมน้ำ ดอกหอม เป็นไม้ไม่ผลัดใบ และมีรากช่วยยึดตลิ่งได้ดี เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างภายในอาคารบ้านเรือน ผลเป็นอาหารสัตว์ป่า

สรรพคุณ ชาวมาเลเซียจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเดือด ใช้เป็นยากลั้วปากและคอ แล้วบ้วนทิ้งเพื่อช่วยบำบัดอาการเจ็บคอได้ดี บางข้อมูลระบุว่า ให้ใช้น้ำยางจากเปลือกต้น, เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต

ส่วน “อำเภอบางกรวย” เป็น 1 ใน 6 อำเภอของจังหวัดนนทบุรี มีพื้นที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากจังหวัด 18.5 กิโลเมตร จัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี 2447 เดิมเรียกว่า “อำเภอบางใหญ่” โดยอาคารที่ว่าการอำเภอเดิมตั้งอยู่ในเขตที่ดินของวัดชลอ ริมคลองบางกอกน้อย ตำบลวัดกระโจม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ตำบลวัดชลอ”

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2460 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า อำเภอบางใหญ่มีเขตการปกครองกว้างขวาง เจ้าหน้าที่ของทางราชการไม่สามารถดูแลทั่วถึงจึงได้แบ่งพื้นที่เขตการปกครองทางด้านเหนือ แล้วจัดตั้งเป็น “กิ่งอำเภอบางแม่นาง” ขึ้นกับอำเภอบางใหญ่ จนถึงปี พ.ศ.2464 จึงได้ยกฐานะกิ่งอำเภอบางแม่นางขึ้นเป็นอำเภอ แยกการปกครองไปจากอำเภอบางใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า “อำเภอบางแม่นาง” และเนื่องจากอาณาเขตของอำเภอบางใหญ่สมัยก่อนนั้นเป็นรูปแหลมคล้ายกรวยยื่นออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา คนส่วนมากเรียกเล่นๆ ว่า หัวแหลมบางกรวยบ้าง ประกอบกับมี “ต้นกรวย” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบางใหญ่มาเป็น “อำเภอบางกรวย” เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2473

ที่มา : มติชนออนไลน์