รุกตลาดผลไม้อินเดีย ชื่นชอบมังคุด…ลำไยผลไม้ยอดนิยม

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นำโดย คุณฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปะชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน และ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ปรึกษาศึกษาความต้องการสินค้าเกษตร และจับคู่เจรจาธุรกิจ โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตร ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business  Matching) ระหว่างผู้นำเข้าผลไม้อินเดียจำนวน 12 บริษัท กับผู้ประกอบการของไทยในจังหวัดตราด จันทบุรีและภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง 20 บริษัท ที่โรงแรมบ้านปูรีสอร์ท อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

เจาะตลาดกรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เชนไน กัลกัตตา ตั้งเป้าตลาดโต 25%

คุณฉัตรชัย กล่าวว่า ตลาดสาธารณรัฐอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจำนวนประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลก และปีงบประมาณ 61-62 เศรษฐกิจจะขยายตัว 7-7.5% อัตราสูงที่สุดของโลก ปริมาณการบริโภคของประชากรขยายตัวมากขึ้น ในปี 2560 มีปริมาณนำเข้ามูลค่า 15.07 ล้านล้านบาท เป็นมูลค่าผลไม้ประมาณ 195 ล้านบาท ซึ่งปี 2559 กรมการค้าภายในพาไปเผยแพร่ผลไม้ไทยเพื่อสร้างการรับรู้ เจรจาจับคู่ทางการค้า ตัวเลขมูลค่าการค้าปี 2560 เพิ่มขึ้น 60% โดยลำไยเป็นผลผลิตที่ส่งออกส่วนใหญ่

ดังนั้น คาดว่าในปี 2561 ผลผลิตที่ส่งจะเพิ่มขึ้น 25% เป็นผลไม้สด 81% และผลไม้อบแห้ง 19% มีมูลค่าสูงและสร้างรายได้ให้ทั้งสองประเทศจำนวนมาก จึงได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตร เจรจาจับคู่ธุรกิจโดยตรงระหว่างนักธุรกิจไทย จำนวน 20 บริษัท และนักธุรกิจอินเดีย 12 บริษัท เพื่อรวบรวมข้อมูลการบริโภคและความต้องการผลไม้ไทย ชนิดของผลไม้ คุณภาพ ราคา รูปแบบการขนส่ง ช่วงเวลาการสั่งซื้อ

ทางด้าน รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาจับคู่เจรจาธุรกิจผลไม้ไทยกับอินเดียที่จังหวัดตราด ได้เชิญผู้ประกอบการนำเข้ารายใหญ่ จากเมืองเศรษฐกิจหลัก 4 เมือง คือ กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เชนไน กัลกัตตา มาพบผู้ประกอบการในจังหวัดตราดและจังหวัดอื่นๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง  อินเดียมีความต้องการบริโภคผลไม้ 100 ล้านตัน/ปี แต่ผลิตได้เพียง 80 ล้านตัน/ปี จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยทั้งสดและแปรรูปเพราะอินเดียผลิตผลไม้ได้ไม่เพียงพอ การผลิตยังมีจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา เช่น วิธีการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว รวมทั้งการแปรรูป และเศรษฐกิจของอินเดียขยายตัว รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น

ผลไม้ไทยที่ได้รับความสนใจมี 5-6 ชนิด คือ ลำไย ชมพู่ มังคุด ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม มะขามหวาน  เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกต้องศึกษาความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี (FTA) 2 ฉบับ คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (ITFTA) มีผลไม้สดภาษีเป็นศูนย์ 8 ชนิด คือ มังคุด มะม่วง องุ่น แอปเปิ้ล ทุเรียน เงาะ ลำไย และทับทิม และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ผลไม้สดภาษีเป็นศูนย์มีมากกว่า 20 ชนิด เช่น อินทผลัม ลูกพีช ลูกแพร น้อยหน่า และผลไม้ที่รวมอยู่ด้วย เช่น กล้วย สับปะรด ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ มะนาว เชอร์รี่

 

ผลไม้ไทยยอดนิยม 3 ปี ขยายตัว 60% ลำไยฮ็อตสุด

คุณจิตตรา ปัญญาชัย หรือ คุณมาตา เจ้าของผู้จัดการบริษัท มาตาโปรดักส์ จำกัด เล่าว่า มีประสบการณ์ทำผลไม้ส่งออกมาร่วม 20 ปี แต่ปี 2556 เพิ่งมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัททำธุรกิจรับซื้อผลไม้สดและผลไม้แปรรูปส่งออก บริษัท 2 แห่ง ตั้งอยู่ เชียงใหม่และจันทบุรี โดยมีธุรกิจบริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศควบคู่กัน ทำให้การส่งออกผลไม้ส่งต่างประเทศสะดวก ไม่ยุ่งยาก เพราะมีชิปปิ้งดำเนินการ เพียงแต่ต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครบถ้วน ที่ผ่านมาได้ส่งผลไม้เข้ากรุงนิวเดลีอยู่แล้ว และการเจรจาครั้งนี้ได้ลูกค้าจากเมืองมุมไบเพิ่มขึ้น เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดผลไม้อินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วเพิ่มจาก 30% เป็น 60% เป็นผลไม้สดที่นิยมมากคือลำไย และ มังคุด เงาะ ฝรั่ง มะขามหวาน มะพร้าวอ่อน ส่วนทุเรียนยังไม่สนใจเพราะยังไม่รู้จักผลสดและวิธีการรับประทาน ต่อไปต้องทำให้อินเดียยังไม่รู้จักผลไม้ไทย เดิมลำไยคนอินเดียไม่รู้จัก บริโภคไม่เป็น เมื่อนำตัวอย่างไปให้ชิม หลังจากนั้นมามีออเดอร์เข้ามาตลอด

“กลุ่มลูกค้าจีนกับอินเดียต่างกัน ตลาดจีนจะไม่สั่งลำไยในช่วงฤดูร้อน (กรกฎาคม-กันยายน) แต่อินเดียขายได้ตลอดปี ส่วนต้นทุนการส่งออกจะใกล้เคียงกันคือ ตลาดจีนจะสั่งสินค้าล็อตใหญ่ๆ สัปดาห์ละ 10 ตัน และเข้มงวดต้องเป็นเกรดพรีเมี่ยม ตามสเปก แต่สามารถขนส่งทางเรือ ทางรถยนต์ได้ทำให้ต้นทุนไม่สูงแม้จะซื้อผลไม้ราคาแพงกว่า ถ้าเป็นตลาดอินเดีย สั่งสินค้าครั้งละไม่มาก อาจจะสัปดาห์ละ 5 ตัน แต่สินค้าไม่เน้นเกรดพรีเมี่ยม แต่ต้องขนส่งทางเครื่องบินเท่านั้น แม้จะซื้อผลไม้ราคาต่ำกว่าแต่ค่าขนส่งแพง ทำให้ต้นทุนไปตลาดจีน-อินเดีย ไม่ต่างกันมาก ที่สำคัญตลาดอินเดียชำระเงินล่าช้ากว่าประมาณ 30 วันหลังจากส่งสินค้า” ผจก.บริษัทมาตากล่าว

 

เปิดตลาดมังคุด…ผลไม้แปรรูป

จากการเจรจาจับคู่ทางการค้าและหลังชมชิมผลไม้ในพื้นที่สวนเงาะ ทุเรียน มังคุดในจังหวัดตราด นอกจากลำไยที่ชื่นชอบมาแต่เดิมแล้ว ผลไม้ชนิดใหม่ที่ได้รับความสนใจมากสุดคือ มังคุด เงาะ และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป อบแห้ง คุณ Sanjay Arora สันใจ อโรร่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท IG Internationnal Pvt. จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีศูนย์กระจายผลไม้ในเมืองใหญ่ๆ 16 เมือง ผลไม้ที่นำเข้าร่วม 10 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นแอปเปิ้ล แพร์ และผลไม้อื่นๆ กีวี องุ่น เชอร์รี่ อโวกาโด ส้ม พลัม บลูเบอร์รี่ ส่วนไทยนำเข้ามะขามหวาน อินเดียมีผลไม้ไม่ตลอดปี ช่วงที่มีผลไม้หลากหลายชนิดมากคือ เดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ และช่วงที่ผลไม้น้อยส่วนใหญ่จะมีเพียงมะม่วง คือเดือนมีนาคม-กรกฎาคม จึงต้องการนำเข้าผลไม้ไทยช่วงที่ผลไม้มีน้อย ผลไม้ที่สนใจคือ มังคุด เงาะ ลำไย ระยะแรกจะสั่งมังคุดสด สัปดาห์ละ 1,500 กิโลกรัม ส่งทางเครื่องบิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ราคาขายในอินเดียจะสูงกว่าเมืองไทย 120-130% ถ้าราคามังคุดไทยกิโลกรัมละ 70-80 บาท จะขายประมาณ 200 บาท ข้อดีผลไม้ไทยบางอย่างเสียภาษีน้อยกว่า

ส่วน คุณ RIYA GUSAIN ริยา กูเซน ผู้จัดการฝ่ายนำเข้า บริษัท DEV BHUMI COLD CHAIN จำกัด กล่าวว่า สนใจสั่งซื้อผลไม้ไทย 4-5 อย่าง คือ ลำไย มังคุด เงาะ ฝรั่ง มะขามหวาน รวมทั้งสับปะรด มะม่วงมังคุดอบแห้ง ซึ่งบริษัทนำเข้าอยู่แล้วในรูปของผลสด ครั้งนี้สนใจต้องการทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ประเภทผลไม้อบแห้ง ที่ผ่านมาการเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้าทำการตลาดผลไม้กับไทย ปัญหาคือแลกนามบัตรกันแล้วติดต่อกลับมา ซัพพลายเออร์ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษหรือตอบคำถามให้ชัดเจนได้ ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าได้ ปัญหาตรงนี้ต้องการให้มีการแก้ไข

 

เสนอภาครัฐดูแลสหกรณ์ ผู้ประกอบการ

จุดอ่อนภาษาอังกฤษ ระบบส่งออก

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวตอนท้ายว่า หากตลาดอินเดียบริโภคผลไทย 10% จำนวนประชากร 130 ล้านคนจะเป็นที่ตลาดใหญ่มากพอสามารถระบายผลไม้จากตลาดจีนได้ ยอดการสั่งซื้อเบื้องต้นประมาณวันละ 100 ตัน สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำ 2-3 ข้อ คือ

  1. 1. รุกการทำประชาสัมพันธ์ให้รู้จักการบริโภคผลไม้สด-แปรรูปและประโยชน์ของผลไม้ไทย ซึ่งคนอินเดียบริโภคอาหารมังสวิรัติคำนึงถึงสุขภาพ ผลไม้ไทยน่าจะเข้าถึงจุดนี้ได้ดี
  2. 2. ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษและการส่งออก การจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าครั้งนี้ยอมรับว่ามีปัญหาคนกลางคือ ผู้ผลิตกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารและเข้าไม่ถึงการส่งออก ตัวอย่าง สหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด ผลิตลำไยคุณภาพปีละ 2,000 ตัน สนใจตลาดอินเดียเพราะเริ่มประสบปัญหากับล้งจีน แต่ไม่สามารถส่งออกได้ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับบริษัทส่งออก และ
  3. 3. การสร้างความมั่นใจตลาดอินเดียให้กับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นตลาดใหม่อาจจะต้องนำผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำตลาดในอินเดีย เรื่องนี้จะประมวลผลนำเสนอกรมการค้าภายในต่อไป

ปัญหาด้านการตลาดที่เป็นจุดอ่อนของผู้ผลิต เกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการรายย่อยมาตลอด…เมื่อมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแล และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อนาคตไทยจะก้าวสู่ “ศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย” ที่ตลาดโลกเปิดรับ