เกษตรฯ จับมือภาคอุตสาหกรรมนม ชวนคนไทยดื่มนมเพิ่ม เป็น 25 ลิตร ต่อคน ต่อปี ภายในปี’69

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันดื่มนมโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของการบริโภคนมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ จับมือกับ 11 บริษัท ผู้ผลิตนมในนามสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) กรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และ เอฟเอโอ จัดกิจกรรมวันดื่มนมโลก ประจำปี 2561 ภายใต้แคมเปญ “นมยิ่งดื่มยิ่งดี” เพื่อสร้างวัฒนธรรมการบริโภคนมในสังคมไทย โดยคณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนม ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการดื่มนมของคนไทย จาก 18 เป็น 25 ลิตร ต่อคน ต่อปี ภายในปี 2569

นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถิติพบว่า คนไทยบริโภคน้ำอัดลม เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มากกว่า 41.13 ลิตร ต่อคน ต่อปี แต่กลับบริโภคนมอยู่ใน อันดับที่ 68 ของโลก โดยบริโภคเพียง 18 ลิตร ต่อคน ต่อปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้ว เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 113 ลิตร ต่อคน ต่อปี ถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันปริมาณการบริโภคนมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

“ปัจจุบัน การดื่มนมของคนไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น หรือในประเทศยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม นมถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและจำเป็นต่อสุขภาพ หากดื่มนมเพียงวันละ 2 แก้ว จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยด้วย”

นายชัชวาลย์ มณีทัพ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้เสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อบูรณาการนโยบายของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม กระทรวงเกษตรฯ นโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้านสุขภาวะโภชนาการและความรอบรู้ทางสุขภาพเกี่ยวกับการดื่มนม เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและผลักดันเพื่อเพิ่มยอดการส่งออก การรณรงค์บริโภคนมนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเติบโตตลาดในประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มีน้ำนมดิบเพียงพอเพื่อการส่งออก

“ทางสมาคมเชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมนมประเทศไทย และผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ ในการแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การจำกัดปริมาณนำเข้าของประเทศปลายทาง”

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์