เอ็นจีโอ-นักวิชาการ สะท้อนจุดดี-จุดด้อย ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. … ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณา จากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน มีอยู่ 10 ประเด็น อาทิ

1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งป่าชุมชนและพื้นที่ป่าที่มีการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ให้คงอยู่ภายใต้บังคับของ “กฎหมายว่าด้วยป่าไม้”, “กฎกระทรวงว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ” หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ พ.ร.บ.นี้จะบัญญัติเป็นอย่างอื่น

2. กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน” โดยมี “รัฐมนตรีว่าการ ทส.” เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อ ครม. เกี่ยวกับนโยบายการจัดตั้ง การจัดการป่าชุมชน และเครือข่ายป่าชุมชน หรือพิจารณาให้ความเห็นเรื่องที่เกี่ยวกับป่าชุมชน เสนอแนะในการออกกฎหมาย กำหนดระเบียบ พิจารณาอุทธรณ์ และเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อการกำหนดงบประมาณ มาตรการ หรือกลไกทางการเงิน

3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด” โดยมี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและประกาศคำขอ-เพิ่ม-ลด หรือเพิกถอนป่าชุมชน ตรวจสอบรายละเอียดที่ระบุในคำขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ถอดถอนกรรมการจัดการป่าชุมชน แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด จากนั้นให้จัดทำรายงานเสนอ “คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน” อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

4. กำหนดให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการป่าชุมชน โดยกำหนดให้มีแผนจัดการป่าชุมชน มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าชุมชนในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ หรือบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็น “เขตป่าชุมชน”

5. กำหนดให้มี “การควบคุมดูแลป่าชุมชน” กำหนด “อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน” และกำหนด “การห้ามกระทำการภายในป่าชุมชน” หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำตามที่ พ.ร.บ. นี้บัญญัติให้กระทำได้

6. กำหนดให้ “อธิบดี” มีอำนาจ “สั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งแปลง” หรือ “บางส่วน” ได้ โดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชน ทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้น ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหาย หรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป หรือเมื่อมีความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งการเพิกถอนป่าชุมชนให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอน หากเป็น “อสังหาริมทรัพย์” ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เป็น “สังหาริมทรัพย์” ให้กรมป่าไม้เก็บไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมจัดการป่าชุมชน

7. กำหนด “โทษ” สำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน และ “ข้อบังคับ” ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน และผู้กระทำการฝ่าฝืนการทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน ส่วน “ไม้” หรือ “ของป่า” ที่ได้มา หรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้ “ริบ” เสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เห็นว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งที่รอมานานแล้ว เนื่องจากมีการรับรองสิทธิ รับรองการจัดการ ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผ่านมาเกิดการถกเถียงเชิงพื้นที่ อาทิ พื้นที่ที่จะนำไปทำป่าชุมชนนั้นจะครอบคลุมป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนฯ หรือพื้นที่อื่นมากน้อยแค่ไหน โดยการถกเถียงดังกล่าวมีมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2534 หรือกว่า 27 ปีมาแล้ว ส่วนตัวยืนยันว่าทุกพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่ แล้วมนุษย์สามารถจัดการดูแลได้ ควรส่งเสริมให้เขาได้รับสิทธิในการจัดการนั้น หากมีคนอยู่ แต่ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรับรอง หรืออยู่กันแบบที่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้

“ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่ออกมา ตัดเรื่องการจัดการป่าในพื้นที่อนุรักษ์ออกไป เป็นปมหนึ่งที่คิดว่าเราต้องช่วยกันคิด และความจริงแล้วกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติขึ้นมาฉบับหนึ่ง คล้ายกับการนำเรื่องการจัดการป่าเข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ แม้ส่วนตัวจะเชียร์ พ.ร.บ. ป่าชุมชนฉบับนี้ว่ามีเรื่องดีๆ หลายเรื่อง และคิดว่าค่อนข้างดีกว่าทุกร่างที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่เคลียร์อีกฉบับของกรมอุทยานก่อนก็ยากเหมือนกัน โดยสาระของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้ได้ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการ ร่วมกันอนุรักษ์การใช้ประโยชน์ หรือหากต้องการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมที่มีอยู่ หรือทำป่าเศรษฐกิจขึ้นมา ก็สามารถทำได้แล้ว

“อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านต้องการทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งมีปัญหาอยู่มาก ตอนนี้ถ้ากำหนดให้เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านสามารถจัดการได้ทันที หรือถ้าชาวบ้านจะทำเขตนันทนาการก็สามารถทำได้ กระทั่งว่า หากชาวบ้านวางแผนใช้ประโยชน์ หรือเก็บของป่าอย่างยั่งยืน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็ไม่ต้องขออนุญาตอีก เราจะไม่เห็นปัญหาเรื่องการเก็บเห็ด เก็บน้ำผึ้งแล้วโดนจับกุม ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ขณะเดียวกันก็ต้องขึ้นอยู่กับชุมชนที่ได้รับสิทธิด้วยว่ามีแผนจัดการอย่างไร” นายเดโชอธิบาย

สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่ว่า พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น นายเดโช เห็นว่า “ไม่”

นายเดโช ให้เหตุผลประกอบว่า เพราะมีการแบ่งแยกระหว่าง “ป่าชุมชน” ซึ่งใช้ พ.ร.บ. ป่าชุมชน เป็นตัวบังคับ กับ “ป่าที่อยู่ในเขตอุทยานฯ” ให้ว่าตามระเบียบของกรมอุทยาน ปัญหาหนึ่งที่กังวลคือ ควรผลักดัน พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ ออกมาพร้อมกัน เพราะถ้าผลักดัน พ.ร.บ. ป่าชุมชน ออกมาก่อน เสมือนย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว ที่ทิ้งคนจำนวนมากที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ หรือการตัดสิทธิ ละเมิดเขา ทั้งหลายเหล่านี้จะย้อนกลับมาเรื่องเดิม ซึ่งอาจมีผู้คัดค้านจำนวนมาก หรือหากผลักดัน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติออกมาก่อน หมายถึงแก้ไข พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติให้แล้วเสร็จ จะทำให้ชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ หรือกลุ่มที่ออกมาประท้วงหรือไม่เห็นด้วยได้สบายใจมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เสนอให้รัฐบาลทราบแล้วว่าอยากให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน โดยขณะนี้ผ่าน ครม. แล้ว อยู่ในช่วงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ

ขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระด้านสันติวิธี และอดีตกรรมการปฏิรูปประเทศ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับตัวร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน และมองว่ากฎหมายยังมีความโบราณ โดยออกมาในลักษณะที่อำนาจยังอยู่ที่รัฐ มีเรื่องการลงโทษและการให้รางวัล เป็นระบบกฎหมายที่เก่าแก่

ยุคนี้ควรจะเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้อำนาจเขาจัดการกันเอง แต่ป่าชุมชนยังเป็นป่าของกรมป่าไม้อยู่ จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่แล้วจะเป็นป่าชุมชนได้ยังไง อ่านแล้วรู้สึกเศร้าใจกับความคิดที่ฝังแน่นบนฐานของผลประโยชน์ และการปกป้องอำนาจ และมองว่าทำไมกฎหมายป่าชุมชนจะต้องมีผู้อำนวยการป่าชุมชน ต้องมีคณะกรรมการ ส่วนตัวมองว่าไม่เกี่ยว ไม่ใช่เรื่องป่าชุมชนเลย เวลาที่เข้าไปในชุมชน ในชนบท จะเห็นวิถีของชุมชนที่อยู่บนฐานวัฒนธรรม ไม่ใช่ฐานของกฎหมาย ซึ่งเขาจะดูแลรักษาและมีกฎกติกาการห้ามกันอยู่แล้ว บนฐานความต้องการและบริบทของท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรมประเพณี เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่ควรมีกฎหมายชุมชนแล้ว

“การที่ชุมชนจะจัดการทรัพยากร ควรจะเป็นกฎหมายสิทธิชุมชน แล้วการจะดูแลรักษาป่า หรือการจะวางกติกาต่างๆ ก็ใช้บัญญัติท้องถิ่น” ดร. เพิ่มศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์