กรมส่งเสริมฯชี้…ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรังให้ผลดีหลายด้าน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.801 ฝักใหญ่ ยืนต้นดี ปลูกถี่ได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ปีการผลิต 2559/60 หรือ ข้าวนาปรัง) โดยมีเป้าหมายปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น หรือกิจกรรมอื่นจำนวน 3 ล้านไร่ ประกอบกับปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีความต้องการใช้ในประเทศกว่า 7.2 ล้านตัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น ๆ เข้ามาเสริมชดเชยส่วนที่ขาด ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงได้จัดทำขึ้นและมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง คือ

       ๑. ลดปริมาณผลผลิตข้าวที่มากเกินความต้องการ เพื่อปรับระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดของผลผลิตทั้ง 2 ชนิด จากข้าวมาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ยังเป็นการปรับระบบการผลิตข้าวที่ถูกต้องในการให้ชาวนาปรับระบบจากการปลูกข้าวตามด้วยข้าว ที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์เกษตร มาเป็นข้าวตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชชนิดอื่นทดแทน ซึ่งจะช่วยตัดวงจรการเจริญเติบโตและการสะสมของโรคแมลงจากการปลูกพืชชนิดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กันในพื้นที่เดิม รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าในการผลิตพืช เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้น้ำตลอดฤดูการเพาะปลูกเพียง 500 – 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ในขณะที่ข้าวใช้น้ำสูงถึง 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ อีกทั้งผลผลิตและผลตอบแทนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดีกว่าข้าว เพราะข้าวเป็นพืชที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันเป็นทิศทางขาลง เพราะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม และพม่า สามารถผลิตข้าวในปีนี้ได้ผลผลิตสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา การเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศได้รับประโยชน์ เพราะมีแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างเพียงพอ

  1. พื้นที่เป้าหมายมีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรมีแนวโน้มจะปลูกข้าวรอบ 2 โดยดูจากข้อมูลการผลิตข้าวในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร คือ ตั้งแต่ ปี 2555/56 – 2558/59 ซึ่งจากการวิเคราะห์ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า มีพื้นที่ที่ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) รวมกันกว่า 8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเขตชลประทาน 31 จังหวัด พื้นที่รวม 2 ล้านไร่ และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทดลองนำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวรอบที่ 2 หรือข้าวนาปรังในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า เกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรจากการผลิตไร่ละ 2,000 – 4,000 บาท
  2. เมล็ดพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์คุณภาพ โครงการให้เกษตรกรใช้พันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพ ที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแล้วว่าข้าวโพดลูกผสมจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิดกว่า 1 เท่าตัว กล่าวคือ ข้าวโพดลูกผสมศักยภาพการให้ผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 1,500 -1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่พันธุ์ผสมเปิดศักยภาพการให้ผลผลิตอยู่ที่ 600 – 700 กิโลกรัมต่อไร่ จริงอยู่ว่าพันธุ์ลูกผสมเกษตรกรไม่สามารถนำพันธุ์เก็บไว้ใช้ต่อได้ต้องซื้อ แต่ถ้าเทียบผลตอบแทนแล้วคุ้มกว่าการใช้พันธุ์ผสมเปิด เพราะต้นทุนการผลิตด้านอื่น ๆ ที่เกษตรกรต้องเสีย เช่น ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าดูแลรักษา ไม่แตกต่างกัน ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ภาคเอกชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการเป็นบริษัทที่เชื่อถือได้ โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าพันธุ์พืชไทย ที่มีกฎระเบียบในการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ทุกชนิดตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บริษัทเมล็ดพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการจะร่วมมือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการอบรม เกษตรกร และติดตามให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อไร่ใกล้เคียงกับศักยภาพของพันธุ์ในสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และ
  3. มีตลาดรับซื้อแน่นอน โดยปกติราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาขึ้นอยู่กับระยะทางและคุณภาพ ปกติจะอยู่ที่ราว ๆ 6 – 7 บาท กำไรดีกว่าการปลูกข้าวรอบ 2 (นาปรัง) ซึ่งปกติขาดทุนไร่ละประมาณ 1,000 บาท สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับ คือ เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนทางตรงจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไร่ละ 2,000 – 4,000 บาท ในขณะที่ปลูกข้าวขาดทุนไร่ละ 1,000 บาท และผลทางอ้อม คือ สามารถใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิตพืชได้อย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการว่าจะถูกกดราคาทำให้ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการไม่ได้ราคา จึงได้จับมือกับภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อันเป็นความตั้งใจของรัฐ ด้วยความร่วมมือของเอกชนในรูปแบบ “ประชารัฐ” เพื่อรับซื้อผลผลิตตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายในกำหนด โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เบอร์ 2 ความชื้น 14.5% ในราคา ไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ณ หน้าโรงงานกรุงเทพและปริมณฑล อีกทั้งการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาโดยปกติจะมีคุณภาพดีกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในฤดูฝนเนื่องจากเก็บเกี่ยวในช่วงปลอดฝน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความสนใจและห่วงใยโครงการฯ นี้ และขอยืนยันว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรมากที่สุด หากไม่ดำเนินโครงการนี้ก็จะเกิดปัญหาเดิม ๆ คือ เกษตรกรสูญเสียรายได้ และการผลิตไม่สอดคล้องกับการตลาด เช่น กรณีของข้าวเป็นตัวอย่าง รัฐต้องเสียงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเกษตรกรไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เกษตรกรช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะเกษตรกรไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้องตามสถานการณ์จริง ดังนั้น การประสานพลังประชารัฐ ก็จะทำให้ภาคการเกษตรเข้มแข็ง การผลิตการตลาดสอดคล้องกัน ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาคเกษตรมากขึ้นนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และนอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังได้มีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวปรังด้วย เช่น พืชผักอายุสั้น และถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น