ประมูลข้าวฟิลิปปินส์ แข่งเดือด 2.5 แสนตัน ญวนดัมพ์ราคาลง 20 เหรียญ

ปัดฝุ่นความร่วมมือค้าข้าวไทย-เวียดนาม รุกตลาดครึ่งปีหลัง ก่อนประมูลปินส์รอบใหม่ 2.5 แสนตันเดือนหน้า จับตาราคาส่งออกข้าวเวียดนามดีดกลับ 20 เหรียญ แบกต้นทุนท่าเรือแน่นส่งมอบค้างต้นทุน-สมาคมผู้ส่งออกข้าวเดินหน้าหนุนเกษตรกร 8 จังหวัดนำร่อง ปลูกข้าวขาวพื้นนิ่ม เสริมปัจจัยการผลิตรับซื้อข้าวเปลือก ตันละ 9,000 บาท สูงกว่าตลาด ตันละ 500 บาท

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการจัดงานสัมมนา ครบรอบ 100 ปี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่า ในระหว่าง วันที่ 14-15 มิถุนายน 2561 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และสร้างความร่วมมือการค้าข้าวร่วมกับ Vietnam Food Association (VFA) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพราะขณะนี้เวียดนามพัฒนาเรื่องข้าวไปอย่างมาก

พร้อมกันนี้จะมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงภายในกรณีที่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาที่ 109 เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทในการบริหารจัดการโควต้าส่งออกข้าวให้เสรีมากขึ้น จากเดิม Vi-etnam Food 1 จะเป็นผู้ดูแลจัดสรรโควต้าสำหรับส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ และ Vietnam Food 2 จะดูแลการจัดสรรโควต้าส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีผลต่อการส่งออกข้าวมากนัก เพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายใน

“เท่าที่ประเมินสถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วง 5 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม-15 พฤษภาคม 2561 ส่งออกได้ 4.21 ตัน เป็นอันดับสองรองจากอินเดียที่ 4.77 ล้านตัน โดยไทยเพิ่งชนะประมูลข้าวฟิลิปปินส์ 4 แสนตัน อินโดนีเซีย และตลาดข้าวนึ่งจะกลับมาหลังจากนี้ เพราะสต๊อกข้าวเก่าของตลาดแอฟริกาหมดแล้ว ไทยน่าจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 10 ล้านตัน”

ส่วนระดับราคาส่งออกข้าวขณะนี้ ข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,250 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นราคาข้าวเปลือกตันละ 17,000-18,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ประเมินว่าทิศทางราคาจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยไทยมีโอกาสจะเห็นราคาข้าว ตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ เพราะความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีสูง ขณะที่ผลผลิตมีน้อยลง

อย่างไรก็ตาม การที่ระดับราคาสูงอาจแข่งขันได้ยาก และเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในบางตลาดที่หันไปนำเข้าข้าวขาวพื้นนิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังห่วงปัญหาค่าเงินบาทที่ไม่มีเสถียรภาพ อาจกระทบการส่งออกข้าวไทยควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนระดับที่เหมาะสมที่ 33 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ

จับตาประมูลปินส์รอบใหม่

ด้าน นายวันนิวัติ กิติเรียงลาภ รองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ในเดือนหน้าทางรัฐบาลฟิลิปปินส์จะมีการประมูลนำเข้าข้าวขาว 25% ปริมาณ 250,000 ตัน ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการแข่งขันราคากันรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะภายหลังจากไทยชนะประมูลข้าวฟิลิปปินส์รอบที่ผ่านมาและตลาดมาเลเซียก็หันมาซื้อข้าวขาวจากไทยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวเวียดนามปรับลดลงทันที ตันละ 20 เหรียญสหรัฐ จากช่วงก่อนจะมีการประมูลขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ราคาเวียดนามสูงกว่าไทย ตันละ 20 เหรียญสหรัฐ

“โจทย์หนักเดือนหน้า เวียดนามลดราคาลงมารอแล้ว ก็คงแข่งขันราคากันมากขึ้น นอกจากปัญหาเรื่องการแข่งขันราคาประมูลแล้ว ไทยยังต้องระวังปัญหาเรื่องความแออัดของท่าเรือในช่วงที่มีการส่งมอบข้าว เพราะหลังจากฟิลิปปินส์ประมูลไป 2 รอบ ก็ต้องทยอยรับมอบข้าว ซึ่งในช่วงแรกอาจจะส่งมอบเร็ว เพราะของขาดต้องการนำเข้าเร็วก็ให้เร่งขนข้าวก่อน แตรอบต่อไปอาจจะต้องไปรอขึ้นท่า ซึ่งจะมีต้นทุนค่าจอดรอเรือ (พอร์ตคอนเจสชั่น) ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา 5% จากปกติ ก็ต้องนำไปบวกเผื่อไว้ในราคาที่จะประมูลด้วย แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม หากไทยประมูลชนะและกำหนดระยะเวลาส่งมอบในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 จะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกช่วงนั้น

นำร่อง 8 จังหวัด ปลูกข้าวพื้นนิ่ม

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า ปีนี้สมาคมมีแผนจะร่วมการทำงานกับกรมการค้าภายในจัดทำโครงการพลังประชารัฐพัฒนาข้าวไทย โดยในเดือนหน้าจะลงพื้นที่สำรวจ 8 จังหวัด ในภาคกลาง เช่น สุพรรณฯ ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น เพื่อเป็นจังหวัดนำร่องปลูกข้าวขาวพื้นนิ่ม เช่น พันธุ์พิษณุโลก 80, กข 21, กข 71 และ กข 77 ซึ่งจะเริ่มปลูกในปีการผลิตนาปรัง ปี 2561 ปริมาณ 10,000 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิต 10,000 ตัน

ทั้งนี้ สมาคมส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งรับซื้อในระดับสูงกว่าตลาด ตันละ 9,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงส่งออกราคาสูงกว่าข้าวขาวพื้นแข็ง ตันละ 60-150 เหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบัน ข้าวขาว 5% ราคาตันละ 460 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวขาวพื้นนิ่มจากเวียดนาม พันธุ์ 5414
ตันละ 500 เหรียญสหรัฐ ข้าว ST5 ตันละ 550 เหรียญสหรัฐ และนางฮวา ตันละ 600 เหรียญสหรัฐ

“ข้าวชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในตลาดจีน ปีละ 7-8 ล้านตัน แต่ไทยไม่เคยมีการปลูก ทำให้เวียดนามได้เปรียบในตลาดนี้ ส่งออกข้าวชนิดนี้ ต่อไปไทยควรเร่งพัฒนาพันธุ์เพื่อขยายตลาดส่งออกข้าวในเซ็กเมนต์นี้แม้จะเป็นแมส แต่ก็มีปริมาณส่งออกมากกว่าเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่มีราคาสูงก็จริง แต่ส่งออกได้ปริมาณน้อย”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ