“สวนธารน้ำทิพย์” ยะลา ชี้ทางรอด สู้วิกฤตราคายางแปรรูปลุยขายตรงจีน

ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ถือเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยที่ต้องพึ่งพากลไกของรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ที่ผันผวนอย่างต่อเนื่องตามปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของตลาด ถึงกระนั้นราคากลับต่ำลงแทบจะน้อยกว่าต้นทุนการผลิตจนชาวสวนเริ่มถอดใจ แต่ไม่ใช่กับ “กลุ่มเกษตรทำสวนธารน้ำทิพย์” อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่รวมตัวกันแปรรูปจากยางก้อนถ้วยต่อยอดผลิตภัณฑ์จนสามารถส่งออกได้ด้วยตนเอง

“กัมปนาท วงศ์ชูวรรณ” ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ เล่าว่า ในช่วงวิกฤตราคายางขึ้นและลงทางกลุ่มได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยังดำเนินการอยู่ได้โดยมีตลาดประเทศจีนกับประเทศมาเลเซียรองรับผลผลิต และสามารถส่งออกผลผลิตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตลาดยางในประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดหลักของกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกยางคอมพาวนด์ ที่จีนนำเข้าจากประเทศในอาเซียนด้วยสิทธิพิเศษจาก AFTA (ASEAN Free Trade Area เขตการค้าเสรีอาเซียน ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ) ทำให้ภาษีการนำเข้าเป็นศูนย์ แต่หากเป็นยางธรรมชาติ ทั้งยางแผ่น ยางอัดก้อน ยางแท่งเบอร์ 20 จะต้องเสียภาษี ฉะนั้น การแปรรูปเป็นยางคอมพาวนด์ได้เปรียบในเชิงการตลาด สามารถขายได้ง่ายขึ้น

ส่วน มาเลเซีย เป็นประเทศที่ผลิตถุงมือยางเป็น อันดับ 1 ของโลก แต่สามารถผลิตยางได้ไม่เกิน 6 แสนตัน ต่อปี จึงต้องสั่งซื้อวัตถุดิบและน้ำยางจากประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ก่อนแปรรูปเป็นถุงมือเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออกไปยังประเทศจีน ฉะนั้น ผลผลิตน้ำยางสดส่วนใหญ่ของจังหวัดยะลา สงขลา ตรัง พัทลุง จะส่งไปให้มาเลเซีย อีกส่วนหนึ่ง

จะนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบหรือแผ่นรมควัน นอกจากนี้ ยังมียางคัพลัม หรือยางก้อนถ้วย ที่มาเลเซียนิยมซื้อไปผสมกับยางจากเวียดนามและอินโดนีเซียแล้วทำเป็นยางแท่งส่งออก แม้ว่ามาเลเซียจะผลิตยางพาราได้น้อยกว่าประเทศไทย แต่สามารถค้าขายกับจีนได้ดีกว่าไทย เพราะพูดและสื่อสารภาษาจีนได้ดีกว่าคนไทย

“เราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันส่งออกเอง จึงสามารถต่อรองราคาให้เป็นไปตามกลไกของตลาดได้ มูลค่ารายได้รวมต่อปีเฉลี่ย “พันกว่าล้านบาท” โดยอิงราคาตลาดยางเซี่ยงไฮ้เป็นหลัก สูงสุดกลุ่มเกษตรของเราเคยทำได้เกือบ 2,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะนโยบายที่จะผลักดันราคาให้ขึ้นมาทำได้ยาก ทั้งนโยบายการโค่นยางและหยุดกรีดยางของรัฐบาล ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เกษตรกรที่มีสวนยางตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นตา พื้นที่บางแห่งเป็น ภ.บ.ท. 5 ซึ่งนโยบายช่วงนี้ก้ำกึ่งยังไม่ชัดเจน”

ด้านภาพรวมทั่วประเทศถือว่ายังคงเป็นปัญหา เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง มีข้อตกลงเก็บสต๊อกยาง ลดการส่งออกใน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผู้ซื้อจึงชะลอการซื้อพร้อมทั้งกดราคาให้ต่ำลง เพราะยางที่เก็บไว้มีอายุการใช้งานและเสื่อมคุณภาพ บวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ยางราคาตกเพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุด อเมริกา ได้เพิ่มภาษีนำเข้ายาง ตลาดจีนจึงกลายเป็นตลาดใหญ่แล้วกดราคาลงมาอีก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางทั่วประเทศเดือดร้อนหนัก และประเทศไทยถูกมองว่าปลูกยางเกินความต้องการของตลาดโลก ซึ่งสามารถผลิตยางพาราได้กว่า 4.5 ล้านตัน ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาดโลก ขณะที่การใช้ยางพาราภายในประเทศไม่เกิน 6 แสนตัน ต่อปี เท่านั้น

กัมปนาท บอกว่า ตอนนี้ภาคใต้ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่เรื่องยางพารา โรงงานแปรรูปแต่ละแห่งมียางเก่าเก็บไว้มากพอสมควร การทำราคายางให้ดีขึ้นนั้นยาก เมื่อเปรียบเทียบราคาวัตถุดิบน้ำยางสด ยางแผ่น และยางก้อนถ้วย ก็ไม่สมดุลกัน แต่กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์สามารถรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนด้วยราคาที่สูงกว่ารายอื่นประมาณ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่สามารถผลิตยางคอมพาวนด์ส่งออกได้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะที่กลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มสหกรณ์อื่นยังไม่มีการแปรรูป และยังไม่มีตลาดที่แน่นอน

“เราคนเบตง ส่วนใหญ่พูดจีนได้ ตอนแรกก็อาศัยบริษัทในมาเลเซีย หลังจากนั้น เขาแนะนำวิธีการแปรรูปจนเราสามารถทำเองได้ เมื่อพูดจีนกลางได้ พูดจีนกวางตุ้งได้ ก็เลยทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เรื่องของการสื่อสารภาษาเป็นหัวใจหลักสำคัญ สิงคโปร์ไม่มีต้นยางสักต้นก็ค้าขายได้ เพราะเขาได้ภาษา บ้านเราพูดแต่ไทย แหล่งใต้ก็เลยต้องผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 เสือ แต่ถ้าทุกจังหวัดมี 1 กลุ่ม นำร่องการแปรรูป จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางแต่ละจังหวัดสามารถมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง ที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใต้สุดติดเขตตะเข็บชายแดนระหว่างรัฐเประประเทศมาเลเซีย ที่ได้นำผลผลิตน้ำยางสดมาแปรรูปตั้งแต่ปี 2532 และพัฒนาจนเกิดการแปรรูปทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน จนถึงการแปรรูปเป็นยางคอมพาวนด์ โดยมีการส่งออกไปยังคู่ค้าจากประเทศมาเลเซีย และส่งตรงไปยังโรงงานผลิตยางแม็กซิสในประเทศจีน สามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ