ครัวเรือนก่อหนี้บัตรเครดิตพุ่ง เหตุของแพงขึ้น/ค่าใช้จ่ายเพิ่ม “กสิกร” กังวลยอดค้างชำระบวม

กสิกรไทยเผยดัชนีครองชีพของครัวเรือนพฤษภาคม ปรับลดต่อเดือนที่ 4 ต้นเหตุน้ำมัน-ก๊าซแพง ดันราคาของกินของใช้สูงขึ้น 1.49% สะท้อนครัวเรือนหันใช้บัตรเครดิตเพิ่ม กังวลกระทบการชำระหนี้อนาคต

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 44.9 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากเดือนเมษายน อยู่ระดับ 45.3 ผลจากระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่เร่งตัวสูงขึ้น 1.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาพลังงานภายในประเทศ เช่น น้ำมันขายปลีก ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องภาระการชำระหนี้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่ทำให้ต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรมากขึ้น

ศูนย์วิจัยระบุอีกว่า ครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีและเป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 51.4 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้เกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยางพารา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แม้ราคายางพาราแผ่นดิบอยู่ระดับต่ำ แต่หนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรบางส่วนมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มส่งผลดีไปยังภาวะการมีงานทำของครัวเรือน สอดคล้องกับตัวเลขผู้ที่มีงานทำอยู่ที่ 37.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 6.9 แสนคน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.7 แสนคน โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 4.79 แสนคน

ศูนย์วิจัยระบุต่อว่า ช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าปัจจัยต่อภาวะค่าครองชีพ คือ ผลจากราคาพลังงานในประเทศทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกลดลง และรัฐออกมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของครัวเรือนโดยพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 363 บาท/ถัง (15 กก.) ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ     รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนชะลอขึ้นราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ สภาพดินฟ้าอากาศเข้าสู่ฤดูฝน ที่จะส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกร รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการทำมาค้าขายของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขาย

ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจาก 46.9    มาอยู่ที่ 46.2 ผลจากความกังวลและการคาดการณ์ของครัวเรือนในเรื่องระดับราคาสินค้าและบริการ ภายในประเทศที่มองว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น กลับภูมิลำเนา ทำบุญ ท่องเที่ยว เป็นต้น ภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดทั้งปี 2561 น่าจะดึงดูดความสนใจของครัวเรือน เพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเลือกจังหวัดเมืองรองเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น และช่วยกระจายรายได้ลงสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน