ดันอาชีพเกษตรกรเท่าขรก. ตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยอุ้มภัยพิบัติ

“กฤษฎา” ดันพ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 2554 เตรียมต่อยอดตั้งเป็นกองทุนหนุนสวัสดิการแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หวังให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ ราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ จะได้รับช่วยเหลือ ตั้งตลาดเกษตรกรขายผลผลิตใน 40 จังหวัด

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังบรรยายพิเศษ “แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” ในงานเปิดปฏิบัติการโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ว่า ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อาทิ ลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฯลฯ แม้มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผน

กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเที่ยบเท่าข้าราชการ หรือกรรมกรที่มีสวัสดิการรองรับ เมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ ขาดทุน หรือประสบภัยพิบัติ  โดยนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 2554 ซึ่งมีทุนกว่า 2,900 ล้านบาท มาดำเนินงานต่อ มีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงกำหนด หากในอนาคตเกิดปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ภัยพิบัติ ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการวางแผนดำเนินงานและหางบฯ สนับสนุนเพิ่มเติม

“บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท เข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบปัญหา หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบฯ น้อยกว่า และมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ จะแก้ปัญหาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้จัดตั้งตลาดเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2558 เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ตั้งตลาดเกษตรกรแล้วใน 40 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทร์บุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก ขอนแก่น อุดรธานี ตรัง ยะลา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ชุมพร พังงา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร สระบุรี ลพบุรี นครปฐม เชียงราย นครสวรรค์ นครราชสีมา มุกดาหาร นครพนม กระบี่ ภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช ลำปาง และจังหวัดกาญจนบุรี

ตลาดเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ตามศูนย์ราชการเป็นแหล่งในการขายสินค้า ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้มากกว่า 430 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพัฒนาจัดตั้งตลาดเกษตรกรแบบถาวรขึ้นใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิจิตร    ราชบุร กาญจนบุรี ชัยภูมิ และกระบี่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการสินค้าเกษตร ให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพได้เรียนรู้พัฒนาทักษะทางด้านการตลาด พร้อมพัฒนาตลาดเกษตรกรเดิม หรือ   หาแหล่งจัดสร้างตลาดใหม่ ที่อยู่ในเขตชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยว มุ่งเน้นพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพ พัฒนาพื้นที่ให้เป็นตลาดที่เปิดถาวร

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด