หญิงตั้งครรภ์ห่าง ‘ยาฆ่าแมลง’ ผลวิจัยชี้ส่งถึงลูกตั้งแต่ในท้อง

ผลวิจัยชี้ส่งถึงลูกตั้งแต่ในท้อง

นักวิจัยเผยผลศึกษา ‘ยาฆ่าแมลง’ มีผลต่อระบบประสาทและพัฒนาการของเด็ก ชี้ถ่ายทอดกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ด้าน ‘ไทยแพน’ ตรวจผัก ผลไม้ 296 ตัวอย่าง พบสารตกค้างกว่า 480 ชนิด

เมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน ศ. พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2559 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ศึกษาพัฒนาการสมวัยของเด็กไทย อายุ 5 ขวบ พบว่า พัฒนาการสมวัยของเด็กไทยลดลงจาก ร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 67 ในปี 2550 ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา และอาหารที่รับประทาน ขณะเดียวกันมีการศึกษากลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในชุมชนเกษตรกรที่ไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาล (รพ.) อำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ รพ. สวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ และ รพ.พหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 82 คน โดยอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชในระหว่างตั้งครรภ์ และผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก

“โรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะและส่งวิเคราะห์ที่มหิดล พบว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง คือ สารไกลโฟเสตที่ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาว และสารพาราควอตที่มีผลต่อการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ โดยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเสตกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปถึง 11.9 เท่า และมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 1.3 เท่า ที่น่าตกใจคือ แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่หากอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงด้วย รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกันแต่ทำงานในพื้นที่เกษตร หญิงตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย” ศ. พรพิมล กล่าว

ผศ. สุพัตรา ปรศุพัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงการวิจัยสารคลอร์ไพริฟอสกับผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ว่า สารนี้เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งรับประทาน หายใจ และผิวหนัง โดยเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดและสมอง จะส่งผลต่อพัฒนาการ และอาจส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า สารนี้หากเข้าสู่ร่างกายแม่ก็จะถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้ทันที่ ที่ผ่านมา ได้ศึกษาในหนูทดลองซ้ำๆ ในขนาดต่างกัน พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีอารมณ์คล้ายภาวะซึมเศร้า ในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจประชากรอาชีพเกษตรกรรม กว่า 50,000 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับสารดังกล่าวและการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พบว่า ในกลุ่มที่รับสารคลอร์ไพริฟอสในขนาดสูง เฉลี่ยทำงานคลุกคลีกับสารเคมีนี้ ประมาณ 56 วัน ต่อปี จะมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 2.37 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับสารนี้

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน กล่าวว่า ปี 2559 ไทยแพนได้ตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ 296 ตัวอย่าง พบสารตกค้างมากกว่า 480 ชนิด ที่น่าสังเกตคือ เป็นผัก ผลไม้ในห้างโมเดิร์นเทรด โดยสารที่มีปัญหาที่สุดคือ สารคาร์เบนดาซิม พบในตัวอย่างเกือบทุกชนิด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน