“มข.-สทนช.” จับมือแก้ปัญหาน้ำ ช่วยวิกฤตภัยแล้ง-ท่วม ภาคอีสาน

จากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามทุ่มเทกำลัง ความสามารถ รวมทั้งงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แต่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนและเกษตรกรยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการเร่งรัดพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปัญหาทรัพยากรน้ำซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และคุณภาพน้ำ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงเห็นว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นคำตอบสำคัญที่จะนำไปสู่การวางกรอบแนวทางเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้จัดให้มีการประชุมแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็น “โครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ขึ้น ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้

สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เร่งดำเนินงานโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

โครงการนี้ เป็นรูปแบบการศึกษาทบทวน วิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตจนถึงปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูน กำหนดกรอบประเด็นหลักในการศึกษาไว้ 4 มิติ คือ ปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ องค์กรที่ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติการ และคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

โดยจะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชุมปรึกษาหารือกับผู้แทนหน่วยงานและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งสิ้น 11 ครั้ง รวมทั้งจะสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ครอบคลุมการดำเนินโครงการทุกลักษณะงานใน 3 ลุ่มน้ำ พร้อมกันนี้ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ความต้องการใช้น้ำ คุณภาพน้ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำระบบ Web Application เพื่อนำเสนอข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยองค์กรรับผิดชอบให้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

นายสำเริง กล่าวด้วยว่า ในระยะนี้ สทนช. ได้จัดให้มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหลายเรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การแบ่งขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สทนช. จะนำผลจากการศึกษาดังกล่าวไปประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตลอดจนจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติ และเพื่อรับมือกับปัญหาและแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด