ชาวประมง จ่อหยุดเรือจับปลา “ไอยูยู” ทำเดือดร้อน ยื่นรัฐแก้ปัญหา 8 ข้อ

ชาวประมง ทนไม่ไหว ยื่น 8 ประเด็นปัญหา ให้รัฐบาลแก้ 1 ส.ค.นี้ หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน หยุดเรือออกหาปลาทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ไม่ต่ำกว่า 7 วัน เร่งอธิบดีกรมประมง ใช้มาตรา 83 กวาดเก็บแรงงานผิดกฎหมายในประเทศอีกรอบ รับแรงงานขาดหนักกว่า 4 หมื่นคน

รายงานข่าวจาก สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมประมงจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ที่ประสบความเดือดร้อนมานานกว่า 3 ปี จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองไทย เมื่อเดือน เม.ย. พ.ศ. 2558 แม้ตัวแทนชาวประมงจะประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก จึงได้ทำหนังสือถึงสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเปิดประชุมวิสามัญขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเสนอ 8 ประเด็นปัญหา ให้รัฐบาลแก้ไขโดยเร่งด่วน

โดยที่ประชุมมีมติให้ผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม และนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และให้สมาคมประมงทั้ง 22จังหวัด ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมที่ศาลากลางแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมกับขอคำตอบภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับคำตอบในการแก้ปัญหาข้อใดข้อหนึ่งภายใน 7 วัน จะมีการหยุดเรือไม่ออกจับปลา ไม่ต่ำกว่า 7 วัน แม้การหยุดออกจับปลาจะขาดรายได้

แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงเดือดร้อนหนักขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง หรือนำเรือไปจับปลาในเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาที่เรือประมงพาณิชย์จากไทยโอนเป็นเรือประเทศกัมพูชาไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 200 ลำ

สำหรับ 8 ประเด็นปัญหา ที่สมาคมประมงจังหวัดต่างๆ จะเสนอให้รัฐบาลแก้ไข คือ 1.ประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 2.ประเด็นปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 3.ปัญหากฎหมายประมง 4.ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) 5.ปัญหาเรื่องเรือปั่นไฟ 6.ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน 7.ปัญหา VMS และ 8.ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ปัญหาเร่งด่วนอันดับแรกที่สมาคมประมงจังหวัดชายทะเลเสนอให้ภาครัฐแก้ไข คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง แม้เดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา อธิบดีกรมประมงจะใช้อำนาจตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าวได้ประมาณ 1.3 หมื่นราย นอกเหนือจากการจับคู่ระหว่างนายจ้างเจ้าของเรือประมงกับลูกจ้างต่างด้าวได้ 3 หมื่นคนก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่เพียงพอ ล่าสุดยังขาดแคลนแรงงานประมงอีก 4 หมื่นคน จึงเสนอให้ภาครัฐโดยอธิบดีกรมประมง ใช้อำนาจตาม มาตรา 83 พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมง (ซีบุ๊ก) เพื่อเก็บกวาดแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานประมงโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจากขณะนี้เรือประมงพาณิชย์ในไทยขาดแคลนแรงงานหนักมาก เรือไม่สามารถออกทำการประมงเกือบ 2,000 ลำ ขณะที่การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างภาครัฐของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ส่งแรงงานมาทำอาชีพประมงในไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีการส่งแรงงานมาให้แต่อย่างใด

ปัญหาเร่งด่วน อันดับ 2 ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ คือ ประกาศของกรมประมง วันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ให้เจ้าของเรือประมงต้องดำเนินการ 12 ข้อ ให้ครบถ้วน อาทิ ต้องมีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตการทำประมง ใบอนุญาตนายท้ายเรือ ฯลฯ มิเช่นนั้นจะมีความผิดที่มีบทลงโทษรุนแรงตาม พ.ร.ก. การประมง ซึ่งกรมประมงควรดำเนินการในขอบเขตหน้าที่ที่กรมประมงทำก็พอ ไม่ควรไปก้าวล่วงหน้าที่ของกรมเจ้าท่าหรือกรมอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติลงโทษอยู่แล้วหากทำผิด

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปในวิธีการปฏิบัติ เช่น การลืมกรอกรายละเอียดในล็อกบุ๊กการจับปลาในบางวัน ก็มีการปรับสูงเป็นเงินกว่าแสนบาทขึ้นไป รวมทั้งกักเรือไว้ก่อน แต่ควรที่จะมีการเตือนก่อนเหมือนที่ อียู ดำเนินการ หรือเรื่องจำนวนปลาที่จับได้ ควรคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 20-30% ไม่ใช่ 10% เพราะอย่างไรก็ต้องนำมาชั่งน้ำหนักก่อนจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นต้น

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า อีกปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ ต้องใช้เงินนับล้านบาทต่อราย ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศ อียู มีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศ เท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรองเพราะมีแค่ความสมาร์ท แต่ชาวประมงเดือดร้อนหนัก