ผลิตไคติน-ไคโตซาน จาก หอยเชอรี่ สารปรับสภาพดิน กระตุ้นการเจริญเติบโต

“ไคติน” เป็นโครงสร้างแข็งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกแมลง กุ้ง ปู ปลาหมึก เป็นต้น ส่วน “ไคโตซาน” เป็นองค์ประกอบอยู่ในเปลือกนอกของสัตว์พวก กุ้ง ปู แมลง และเชื้อรา เป็นสารธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว คือ ที่เป็นวัสดุชีวภาพย่อยสลายตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยในการนำมาใช้กับมนุษย์ ไม่เกิดผลเสียและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการแพ้ ไม่ไวไฟ เมื่อไคโตซานเกิดการสลายตัวจะเป็นการปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนให้แก่ดิน

ผงไคโตซานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ ไคโตซาน ยังสามารถยึดธาตุโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ฟอสเฟต ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแล้วค่อยๆ ปลดปล่อยสารเหล่านี้แก่พืช ทั้งนี้เพราะไคโตซานเป็นสารชีวภาพ ฉะนั้น จึงช่วยลดการชะล้างและช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ (สวทช. ภาคเหนือ) กศน. ตำบลขี้เหล็ก กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ จึงร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้การผลิต ไคติน-ไคโตซาน จากหอยเชอรี่

ไคติน-ไคโตซาน ให้ผลในแง่ของการเป็นสารธรรมชาติ ที่ช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรและผู้บริโภค ต่อการได้รับสารพิษจากปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช พร้อมทั้งมีจุดเด่นที่สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต ยืดอายุการเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตร รวมถึงช่วยย่อยสลายทางชีวภาพได้และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม โดยการใช้ประโยชน์จาก ไคติน-ไคโตซาน ทางด้านการเกษตร เช่น ใช้เป็นสารปรับสภาพดินสำหรับเพาะปลูก ใช้ในการเคลือบเมล็ดพืช เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต  เป็นสารต้นทานโรคพืช และใช้เป็นสารยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตหลักการเก็บเกี่ยว

สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงขั้นตอนการผลิต ไคติน-ไคโตซาน จากหอยเชอรี่ว่า ขั้นแรกนำหอยเชอรี่ประมาณ 1 กิโลกรัม มาตากให้แห้งแล้วต้มในน้ำเดือด เพื่อแยกเนื้อออก ล้างเปลือกหอยที่นำเอาเนื้อออกให้สะอาดและตากให้แห้ง จากนั้นนำเปลือกหอยมาต้มในน้ำโซดาไฟ 4 เปอร์เซ็นต์ (สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์) เข้มข้น ร้อยละ 4 นาน 4 ชั่วโมง หรือ แช่ไว้ 1-2 วัน เพื่อกำจัดโปรตีนที่ติดมากับเปลือกหอย แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดทิ้งไว้ให้แห้ง บดเปลือกหอยเชอรี่ให้มีขนาดเล็กลงแล้วต้มในน้ำกรดเกลือเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ (สารละลายกรดไฮโดรคลอริก) เข้มข้น ร้อยละ 4 นาน 24 ชั่วโมง หรือแช่ไว้ 2-3 วัน เพื่อกำจัดแร่ธาตุที่บริเวณเปลือกหอย

ล้างเปลือกหอยด้วยน้ำสะอาด ตากให้แห้ง และนำเปลือกหอยที่แห้งแล้วมาบดพอละเอียด จะได้ไคติน นำไคติน มาละลายกับน้ำโซดาไฟ เข้มข้น 40 เปอร์เซ็นต์ (สารละลายโวเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น ร้อยละ 40) แล้วนำมาต้มในอ่างน้ำเดือด นาน 4 ชั่วโมง จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปละลายในน้ำโซดาไฟ ต้มในอ่างน้ำเดือดอีก 4 ชั่วโมง อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดนำไปตากให้แห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียดจะได้ไคโซซานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้

สำหรับการนำไคโตซานไปใช้ประโยชน์ นำไคโตซาน 10 กรัม ในน้ำส้มสายชู 1 ลิตร จะได้สารละลายไคโตซาน เมื่อต้องการนำไปใช้กับพืชหรือข้าวให้นำสารละลายไคโตซานที่ได้ จำนวน 20 ซีซี หรือ 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หรือ ไคโตซาน 1 ส่วน ต่อน้ำ 100 ส่วน แล้วฉีดพ่นใต้ใบพืช หรือราดบริเวณโคนต้น เพื่อช่วยให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน เป็นตัวกระตุ้นเซลล์ของพืชให้ดูดซึมธาตุอาหารได้ดี ทำให้ ราก ลำต้น ใบ แข็งแรง โตเร็ว ผลดก ขั้วเหนียว ทนต่อโรคและแมลง

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้