นำร่อง สร้างมาตรฐาน GAP โรงเรียน 6 แห่ง ที่น่าน

จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดหนึ่งในไม่กี่จังหวัด ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม สร้างความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดให้ติดตาตรึงใจผู้ที่ไปเยี่ยมเยือนให้ได้เห็นอยู่เสมอ

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เลือกจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดนำร่อง ในการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม ด้วยเหตุผลที่โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดน่าน มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาหลายแห่ง ที่ยังคงหลักสูตรการสอนในเชิงวิชาชีพ เพื่อนำทักษะที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคต อีกทั้งยังมีโรงเรียนหลายแห่งเป็นโรงเรียนประจำ รับนักเรียนที่มีปัญหาครอบครัว ขาดความพร้อม และมีภูมิลำเนาห่างไกล จำเป็นต้องพักค้างที่โรงเรียน เป็นเสมือนโรงเรียนกินนอน ดังนั้น ภาระค่าใช้จ่ายเรื่องปากท้องก็เป็นส่วนหนึ่งที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบ และการทำการเกษตรภายในโรงเรียน เพื่อให้ได้ผลผลิตมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดภาระค่าใช้จ่ายภายในโรงเรียน

มกอช. เลือกโรงเรียน 6 แห่ง ที่จังหวัดน่าน เป็นโรงเรียนนำร่อง ในการส่งเสริมมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) ให้ได้อาหารปลอดภัย และนักเรียนปฏิบัติได้จริง

แท้จริงแล้ว มกอช. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรในสถานศึกษา ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมหาวิทยาลัย (ความร่วมมือโครงการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ในระดับมหาวิทยาลัย) ระดับอาชีวศึกษา (โครงการเกษตรเพื่อชีวิต) และระดับมัธยมศึกษา (โครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม)

มกอช. เล็งเห็นว่า การผลิตที่ดีต้องเริ่มต้นที่ฟาร์ม โดยการนำมาตรฐาน GAP มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ผลิตผลสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งส่งเสริมและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานที่เกษตรกรโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดน่าน อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรน่าน จึงร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม

วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม และสร้างสื่อการเรียนรู้ในรายวิชาชีพเกษตร มีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานศึกษาระดับมัธยม ที่มีการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนน่านปัญญานุกูล อำเภอภูเพียง โรงเรียนน่านประชาอุทิศ อำเภอเมือง โรงเรียนนันทบุรี ในพระบรมราชานุเคราะห์ อำเภอเมือง และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อำเภอเวียงสา และมีนักเรียนเป้าหมายในโครงการ รวมทั้งสิ้น 300 คน

ทั้งนี้ มกอช. ได้นำร่องส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยม ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างแปลงสาธิต เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คณะครู อาจารย์ และนักเรียน เกี่ยวกับมาตรฐาน GAP สร้างจิตสำนึกทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าและอาหารที่ปลอดภัย และสนับสนุนให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติได้จริง ด้วยการฝึกปฏิบัติจริงในทุกๆ ข้อกำหนด เพื่อให้มีความพร้อมไปสู่การรับรองตามมาตรฐาน GAP ซึ่งจะทำให้คณะครู อาจารย์ และนักเรียน ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง